เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกระทู้กล้าในนาข้าว

กรมส่งเสริมการเกษตรเผยระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่เริ่มทำนาเพาะปลูกข้าว เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังหลังได้รับรายงานการระบาดหนอนกระทู้กัดกินต้นข้าวในระยะกล้า พร้อมแนะวิธีป้องกันกำจัดที่เหมาะสม

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับแจ้งรายงานการระบาดของหนอนกระทู้กล้าในหลายพื้นที่ ประกอบกับระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกษตรกรในทุกภาคของประเทศไทยเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว และข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะกล้า ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะต่อการเข้าทำลายของหนอนกระทู้กล้า ซึ่งอาจทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายและผลผลิตลดลงได้

ลักษณะอาการและการเข้าทำลายตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ปีกคู่หนังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืชในพื้นที่นาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่มชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามขอบแปลง ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5 – 4 มิลลิเมตร กว้าง 5 – 6 มิลลิเมตร วงจรชีวิตจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้กล้าและศัตรูข้าวทุกชนิด กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเร่งสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้กล้าและศัตรูข้าวชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องและเหมาะสมให้เกษตรกรทราบ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยรายงานสถานการณ์ให้กรมฯ ทราบทุกสัปดาห์

สำหรับการป้องกันกำจัดให้เกษตรกรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัยของหนอนกระทู้กล้า หากเริ่มพบการระบาดให้ระบายน้ำเข้าแปลงนาในระยะกล้าจนท่วมยอดของต้นกล้า แล้วเก็บตัวหนอนไปทำลาย นำต้นหญ้าหรือฟางข้าวมากองไว้บนคันนา เพื่อล่อให้ตัวหนอนเข้าไปอาศัยในเวลากลางวัน จากนั้นเวลาบ่ายให้เก็บเอาตัวหนอนไปทำลาย การใช้เหยื่อพิษที่มีส่วนผสมของสารหนูเขียว 0.5 ลิตร รำข้าว 100 ลิตร น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลปีบ 20 ลิตร และน้ำผสมกันพอชื้น ๆ แล้วหว่านลงบนคันนา เมื่อหนอนกินเข้าไปแล้วเกิดเป็นพิษตาย หรือใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น มาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฟนิโตรไทออน อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์

********************************

อัจฉรา : ข่าว, มิถุนายน 2562 กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย : ข้อมูล