นายดุลยเดช วัชรสินธุ์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง และนายสายันต์ เอี่ยมรอด ผู้ตรวจราชการกรมประมง จัดทีมประมงจังหวัดลงพื้นที่ภาคตะวันออก (ตราด ระยอง และจันทบุรี) เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมถึงปัญหาในการประกอบอาชีพประมงจากตัวแทนกลุ่มชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ในพื้นที่รวมกว่า 200 คน พร้อมชี้แจงการดำเนินการของภาครัฐที่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงโดยไม่ปล่อยผ่าน ณ ห้องประชุมพลอยแดง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562
นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าวเป็นไปตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่งในที่ประชุมมีตัวแทนชาวประมงได้ร่วมกันเสนอปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพด้านการประมงในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้ ประเด็นด้านกฎหมายประมง ชาวประมงเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมาย พรก.ประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 และขอให้ยกเลิกกฎหมายบางมาตรา เนื่องจากมองว่าการออกกฎหมายที่ผ่านมาไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งในประเด็นดังกล่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการออกคำสั่งที่ 452/2561 แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพทำการประมง และมีข้อสรุปในการแก้ไข พรก.การประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทั้งสิ้น 18 มาตรา โดยแบ่งเป็นประมงพาณิชย์ จำนวน 15 มาตรา และประมงพื้นบ้าน จำนวน 3 มาตรา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนยกร่างตัวบทกฎหมาย ประเด็นการขาดแคลนแรงงาน โดยชาวประมงให้ข้อมูลว่าแม้จะอยู่ใกล้เขตชายแดนแต่ก็ยังขาดแคลนแรงงานประมง อีกทั้งยังมีความยุ่งยากในขั้นตอนการจ้างแรงงานที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเข้าสู่ระบบสูง จึงขอให้ใช้แรงงานกลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู (บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย) ต่อไป และให้ใช้มาตรา 83 แห่ง พรก. การประมงตลอดทั้งปี ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีการชี้แจงต่อชาวประมงว่า เดิมภาครัฐได้ใช้มาตรา 83 แห่ง พรก. การประมง พ.ศ. 2558 กรณีเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ขณะนี้ได้แก้ปัญหาโดยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในเรือประมงด้วยวิธี MOU ซึ่งเป็นการปกป้องตัวแรงงานและเจ้าของเรือเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ใช้แรงงานผิดกฎหมาย และตัวแรงงานได้รับค่าจ้างตามที่ตกลง โดยกระทรวงแรงงานได้ทำ MOU แล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และลาว ส่วนการจัดตั้ง One stop service บริเวณพรมแดนเรื่องแรงงานต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีได้มีการชี้แจงถึงประเด็นการแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมงและเครื่องมือวีเอ็มเอส (VMS) ซึ่งได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง และเงื่อนไขเอกสารที่ได้ปรับลดลงตามข้อเสนอของชาวประมงแล้ว พร้อมทั้งจะเร่งช่วยเหลือเรื่องการปิดสัญญาณ VMS กรณีเรือไม่ประสงค์ออกไปทำการประมงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ประเด็นเรื่องอวนลากแมงกะพรุน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกประกาศเพื่อให้สามารถทำการประมงได้ตามข้อเสนอ ประเด็นการซื้อเรือคืน ล่าสุดได้มีการจ่ายเงินชดเชยงวดที่หนึ่งเข้าบัญชีชาวประมงจำนวน 250 รายเรียบร้อยแล้ว คงเหลือเพียง 2 ราย ที่ต้องรอคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ปัญหาการประกอบอาชีพ บางประเด็นต้องรวบรวมข้อมูลจากจังหวัดต่าง ๆ มาพิจารณาและดำเนินการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป ส่วนประเด็นอื่นๆ ชาวประมงยังเสนอให้มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรประมง พื้นบ้าน พาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเหมาะสมเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในระดับจังหวัด ซึ่งได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดไปดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อโดยใช้กลไกการทำงานของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นชาวประมงอย่างต่อเนื่องเพื่อนำปัญหาและข้อเสนอแนะของชาวประมงทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์มาพิจารณาหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายภายใต้บริบทของกฎหมาย และย้ำว่าทุกเสียงสะท้อนจะไม่ปล่อยผ่าน ขอให้พี่น้องชาวประมงได้โปรดให้ความร่วมมือกับทางราชการโดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรประมงเป็นสำคัญ