SCGC หนุนเศรษฐกิจ BCG อวดโฉมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Green Innovation ในงานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

กรุงเทพฯ : เมื่อเร็ว ๆ นี้  เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ตอบรับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินธุรกิจสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วย Green Innovation ในเวทีงานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ครั้งที่ 3rd (The  Thailand-LAC Seminar Series) โดยได้นำนวัตกรรมพลาสติกเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMER พร้อมสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง BCG มาจัดแสดงในงานครั้งนี้

ภายในงาน นายนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการเทคโนโลยี SCGC ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในหัวข้อเสวนา เรื่อง “Bio-Circular-Green (BCG) Economy: Pathways to Enhance Partnerships between Thailand and Latin America and the Caribbean” โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยเชิงพาณิชย์ จนนำไปสู่นวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้แบรนด์ “SCGC GREEN POLYMER” ประกอบด้วย 4 โซลูชัน ได้แก่ REDUCE, RECYCLABLE, RECYCLE และ RENEWABLE ซึ่งสอดคล้องกับเมกะเทรนด์และความต้องการของผู้ใช้ทั่วโลก ตอบโจทย์คู่ค้าและเจ้าของแบรนด์สินค้าที่มองหาโซลูชันและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากนี้ SCGC ยังได้จัดบูทนิทรรศการแสดงนวัตกรรม SCGC GREEN POLYMER และสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง ได้แก่ ผ้าใยสับปะรด ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี บ้านหมอมุ่ย อ.ปลวกแดง และผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง เช่น น้ำผึ้ง สบู่ น้ำมันหอมระเหย ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา อ.เมือง ซึ่ง SCGC ได้ส่งเสริมและช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง BCG เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะติดตาม รวมถึงกลุ่มคณะทูตประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เยี่ยมชมนิทรรศการ

งานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ครั้งที่ 3 จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตประเทศแถบลาตินอเมริกา 9 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามา และเปรู เพื่อร่วมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศในแถบลาตินอเมริกา รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายและมาตรการส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งภูมิภาคลาตินอเมริกามีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย