COTTO ผสานพลัง ‘SCG Decor’ ยกระดับสู่ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน คว้าโอกาสตลาดขยาย 6 เท่า[1] เข้าถึงประชากรเกือบ 560 ล้านคน เปิดอนาคตเติบโตไกล ล่าสุด คณะกรรมการ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO พิจารณาให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เพื่อขออนุมัตินำหุ้น COTTO ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจร่วมกับบริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด หรือ SCG Decor บริษัทแกนหลักของ เอสซีจี ในการประกอบธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ ในไทยและอาเซียน โดย SCG Decor จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน
นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด หรือ SCG Decor เปิดเผยว่า “COTTO เป็นบริษัทที่เติบโตต่อเนื่องและมีผลประกอบการที่ดี โดยมียอดขายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 33.0 อีกทั้งนักลงทุนให้ความสนใจและเชื่อมั่นด้วยดีตลอดมา อย่างไรก็ตาม COTTO ยังมีโอกาสขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกวัสดุตกแต่งพื้นผิว ดังนั้นการปรับโครงสร้างโดยการขยายสินค้าให้ครอบคลุมทุกวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ พร้อมทั้งขยายธุรกิจไปยังตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพสูง ภายใต้ SCG Decor นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น
SCG Decor เป็นบริษัทแกนหลักของ เอสซีจี ในการประกอบธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ (Decor Surfaces & Bathroom) พร้อมช่องทางจัดจำหน่ายทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยมีกลุ่มบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่
– บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศไทย มียอดขายกระเบื้องเซรามิกเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 33.0
– บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด (SSW) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์ในประเทศไทยและส่งออกไปต่างประเทศ มียอดขายสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 32.8
– Prime Group ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศเวียดนาม มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 26.4
– บริษัท Mariwasa-Siam Ceramics, Inc (MSC) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศฟิลิปปินส์ มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 16.8
– PT Keramika Indonesia Assosiasi, Tbk (KIA) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระเบื้องปูพื้นและบุผนังในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากร 274 ล้านคน สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
นายนำพล กล่าวว่า “การรวมแต่ละบริษัทในกลุ่มธุรกิจกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ของ เอสซีจี เข้ามาอยู่ภายใต้ SCG Decor เป็นการเสริมความแข็งแกร่ง และสร้างประโยชน์สูงสุดจากการประสานพลังร่วมกันระหว่างทุกบริษัท (Business Synergy) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเร่งการขยายการเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายครอบคลุมทุกวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ รวมถึงช่องทางจัดจำหน่ายทั้งในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกระดับได้อย่างครบวงจร
การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นของ COTTO ที่เปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Decor คือ ยกระดับเป็น “ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและธุรกิจสุขภัณฑ์ชั้นนำระดับอาเซียน” และยังคงสถานะเป็น “ผู้ถือหุ้นทางอ้อมของ COTTO และบริษัทในกลุ่ม SCG Decor”
5 กลยุทธ์ SCG Decor เติบโตสู่ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน ได้แก่
– ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ (Bathroom) จากประเทศไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน ซึ่งกลุ่มสุขภัณฑ์ ในประเทศไทย เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง มียอดขายและส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 โดยนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ “COTTO Smart Toilet” ตอบโจทย์เทรนด์ด้านสุขภาพและอนามัย
– ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) ทั้งในประเทศไทยและในอาเซียน โดยประยุกต์โมเดลธุรกิจที่เข้มแข็งของไทยถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเร่งการเติบโต ผลักดันแบรนด์สินค้าทุกประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น PRIME ในเวียดนาม MARIWASA ในฟิลิปปินส์ และ KIA ในอินโดนีเซีย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งทุกช่องทางการขาย และขยายการส่งออกไปทั่วโลก ด้วยนวัตกรรมการออกแบบและวิจัย นำเสนอสินค้าหลากหลาย ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่กลุ่มประหยัด กลุ่มมาตรฐาน และกลุ่มพรีเมียม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA – High Value Added Products & Services) เช่น “LT แผ่นปูพื้น Smart Flexible by COTTO” นวัตกรรมวัสดุสร้างความยืดหยุ่น ติดตั้ง-ดูแลสะดวก ลวดลายและสัมผัสเสมือนธรรมชาติ “AIR ION” กระเบื้องฟอกอากาศ และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ติดตั้งและซ่อมแซม ปูนกาว และยาแนว เป็นต้น
– ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจร เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ด้านตกแต่งพื้นผิว สุขภัณฑ์ และบริการ ด้วยโซลูชั่นแบบครบวงจรจากการผนึกกำลังของบริษัทในกลุ่มและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
– บริหารห่วงโซ่อุปทานทั้งด้านการผลิตและการจัดหาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Regional Optimization and Global Sourcing Powerhouse) ผสานความร่วมมือระหว่างฐานการผลิตในภูมิภาคและบริษัทในกลุ่มเพื่อบริหารกำลังการผลิตในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพและสรรหาผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
– เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยมาตรฐานระดับโลก พัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสียจากการผลิตและนำกลับมาหมุนเวียนเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อสร้างรายได้ ลดต้นทุนพลังงานด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มุ่งบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (NET ZERO 2050) สอดคล้องกับแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance)
นายนำพล กล่าวเสริมว่า “SCG Decor เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้จากการขาย ปี 2563 – 2565 ที่ 24,378.6 ล้านบาท 25,937.4 ล้านบาท และ 30,253.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.4 และ 16.6 ตามลำดับ ปี 2565 ส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดในอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และประเทศอื่น ๆ รวมกว่า 53 ประเทศ มีรายได้จากการส่งออกกว่า 4,500 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.0 ของรายได้รวม
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการของ COTTO เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 พิจารณาให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น COTTO เพื่อขออนุมัติเพิกถอนหุ้นของบริษัทฯ ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัทร่วมกับ SCG Decor โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ COTTO ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องไม่มีผู้ถือหุ้นของ COTTO คัดค้านการเพิกถอนหลักทรัพย์เกินกว่าร้อยละ 10 ในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566
นายสมิทธิ โกสีย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด กล่าวว่า “อุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิก และอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ ทั้งในประเทศไทย รวมถึงเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง รองรับประชากรเกือบ 560 ล้านคน มีมูลค่าตลาดกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์ รวมกันกว่า 1.9 แสนล้านบาท จึงเป็นโอกาสที่ SCG Decor จะขยายธุรกิจและเติบโตต่อไปในอาเซียนได้อีก”
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ปี 2565-2569 ของ ตลาดกระเบื้องเซรามิกในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ขณะที่ตลาดในไทย รวม เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ส่วนตลาดสุขภัณฑ์ในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.1 เทียบกับรวม 3 ประเทศข้างต้น เติบโตเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 8.6 (อ้างอิงจาก Euromonitor ปี 2564)
“เมื่อ COTTO ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว SCG Decor จะยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ยื่นแบบ Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ภายหลังจากแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ SCG Decor จะเริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ COTTO ในราคา 2.40 บาทต่อหุ้น โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCG Decor เท่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายหุ้น IPO ของ SCG Decor หลังจากการทำคำเสนอซื้อสิ้นสุดลง COTTO จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้น COTTO ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Decor และยังคงเป็นเจ้าของ COTTO ทางอ้อม จากนั้น SCG Decor จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป” นายสมิทธิ กล่าว
นายนำพล กล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า “บริษัท ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุน และได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้ถือหุ้น COTTO ในปัจจุบัน รวมถึงมอบความไว้วางใจตอบรับคำเสนอซื้อในครั้งนี้ ด้วยการแลกหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ SCG Decor ต่อไป พร้อมทั้งขอเรียนเชิญผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทุกท่าน ร่วมเป็นพลังสำคัญในการนำ SCG Decor สยายปีกสู่การเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน”
1 อ้างอิงมูลค่าตลาดสำหรับปี 2564 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เทียบกับมูลค่าตลาดรวมของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ตามรายงานของ Euromonitor