พืชตระกูลส้มเตรียมรับมือโรคแคงเกอร์

ระยะนี้มีอากาศร้อน และมีฝนตกในบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลส้ม อาทิ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะนาว และมะกรูด ให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคแคงเกอร์ ที่สามารถพบได้ในระยะที่พืชแตกใบอ่อน อาการบนใบ เริ่มแรกมีจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาขยายใหญ่เป็นจุดแผลนูนฟูขึ้นคล้ายฟองน้ำสีเหลืองอ่อน จากนั้น แผลเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแข็งสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลยุบตัว ขอบแผลยกตัวขึ้น บริเวณรอบแผลมีวงสีเหลืองล้อมรอบ พบอาการของโรคได้ทั้งผิวใบด้านหน้าและด้านหลัง สามารถเห็นชัดเจนบนผิวใบด้านหลัง แผลเกิดได้ทั้งบนใบและก้านใบ ทำให้ใบเหลืองร่วงก่อนกำหนด อาการบนกิ่ง ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่ไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ต่อมาแผลจะแตกแข็งเป็นสีน้ำตาล ขยายรอบกิ่งหรือตามความยาวกิ่ง รูปร่างแผลไม่แน่นอน อาการบนผล ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่จะเกิดแผลเดี่ยวกลมฝังลึกลงไปในผิว แผลขยายเป็นสะเก็ดใหญ่ มีวงสีเหลืองล้อมรอบ รูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งพบผลปริแตกตามรอยแผล หากเกิดโรคในระยะผลอ่อน ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ หากรุนแรงผลจะร่วง

เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้เกษตรกรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เก็บเศษซากพืชที่ร่วงหล่น และกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชกลุ่มสารประกอบทองแดง เช่น สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7-10 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง และควรเลือกใช้กิ่งพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ หรือใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการนำกิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคไปปลูกใหม่

นอกจากนี้ ในระยะที่พืชตระกูลส้มแตกใบอ่อน ให้เกษตรกรกำจัดหนอนชอนใบที่เป็นพาหนะเชื้อสาเหตุโรคนำมาทำลายทิ้ง เนื่องจากรอยทำลายของหนอนชอนใบเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช และส่งผลให้อาการโรครุนแรงลุกลามอย่างรวดเร็ว หากพบให้พ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งหลังใบและหน้าใบ กรณีพบว่ายังมีการระบาดของหนอนชอนใบให้พ่นซ้ำ และควรทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรที่ใช้กับต้นเป็นโรคก่อนนำไปกลับมาใช้ใหม่กับต้นปกติทุกครั้ง

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร