ผู้ช่วยฯ สุรชัย เปิดงานนำเสนอผลงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (NEET)

วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน การนำเสนอผลการศึกษา “งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (NEET) ในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

โดยมี นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายยูน โอสตร์อม เกรินดอล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย นายประทีป ทรงลำยอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าประชุมร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องสุรศักดิ์ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ

นายสุรชัย กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะ และกำลังแรงงานทุกช่วงวัยของประเทศ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเยาวชน (NEET) จึงได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ของกระทรวงแรงงาน โดยได้มีการระบุถึงประเด็นเยาวชน เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ต้องได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนได้กลับเข้าสู่การเรียน การทำงาน หรือการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21

โดยมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้กำลังแรงงานมีฝีมือได้มาตรฐานในระดับสากลในรูปแบบ Up skill Re skill และ New skill มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพของผู้ประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า กิจกรรมในวันนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์และภูมิหลังของ NEET ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบนโยบายและการสนับสนุนให้ตรงเป้าหมายเพื่อจัดการกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสถานะ NEET ของเยาวชน อีกทั้ง จะได้รับฟังการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาเยาวชน NEET จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการช่วยเหลือและส่งเสริมให้เยาวชนสามารถหลุดพ้นจากสภาวะความเป็น NEET ได้อย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาโครงการและกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทยต่อไป