วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้บุคลากรภาครัฐและเอกชนที่ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานตามแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Content Accessibility Guidelines) ภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ประจำปี 2566 2566
โดยมี นางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงาน ซึ่งการฝึกอบรมแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับผู้บริหาร ระดับผู้ผลิตสื่อและเผยแพร่ข้อมูล และระดับผู้พัฒนาระบบ รวมจำนวน 6 รุ่น โดยในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 3-4 มีจำนวนผู้เข้าร่วมการอบรม 150 คน จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะบาซ่าโฮเทล กรุงเทพฯ
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงเว็บไซต์ของกลุ่มคนพิการที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมถึงเรียนรู้แนวทางวิธีการในการปรับปรุงและสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตามข้อกำหนดเบื้องต้นของ World Wide Web Consortium (W3C) อีกทั้งเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมศักยภาพและอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการผ่านแอปพลิเคชันที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ สร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนคำนึงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถรองรับสำหรับคนทุกกลุ่มได้
“การพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนพิการและคนทุกกลุ่ม ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการปรับปรุงให้เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐที่บริการให้แก่ประชาชนสามารถยกระดับผ่านตามมาตรฐานเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการสามารถเข้าถึงแหล่งบริการและข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งยังเพิ่มช่องทางการให้บริการภาครัฐไปพร้อมกัน” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับหลักสูตรดังกล่าวมีเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึง การใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ แนวทางการปฏิบัติการออกแบบสำหรับสื่อและเนื้อหาบนเว็บไซต์ เครื่องมือทางดิจิทัลและแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ตามมาตรฐานของ WCAG (Web Content Accessibility Guideline) และแนวทางปรับปรุงเว็บไซต์ที่ได้จากผลการวิเคราะห์ผลการตรวจสอบทางการออกแบบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐานของ WCAG