ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปั่นป่วน ท่ามกลางความกังวลปัญหาเสถียรภาพของธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูง ท่ามกลางความกังวลความเสี่ยงต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึง ความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC)

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) โดยเรามองว่า FOMC อาจตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% เพื่อย้ำจุดยืนในการแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อ (ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังคงสูงกว่า 6%) ขณะที่ปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้สภาวะทางการเงิน (Financial Condition) ของสหรัฐฯ ตึงตัวมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ลดลง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองเพิ่มเติม คือ ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของเฟด รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ใหม่ โดยเราประเมินว่า เฟดอาจไม่ได้ขยับประมาณการเศรษฐกิจมากนัก แต่มีความเป็นไปได้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่อาจมองว่า เฟดควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับ 5.50% ในปีนี้ ซึ่งจะสูงขึ้นจากที่เคยมองไว้ที่ระดับ 5.25% ในการประชุมเดือนธันวาคม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในฝั่งภาคการบริการ มีแนวโน้มชะลอตัวลงช้า ส่วนปัญหาด้านสภาพคล่องของระบบธนาคารสหรัฐฯ ก็ไม่ได้น่ากังวลมากนัก เพราะทางการสหรัฐฯ และเฟด ก็ได้ออกมาตรการรับมือไว้แล้ว และนอกเหนือจากผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) ซึ่งตลาดคาดว่า ในเดือนมีนาคมนั้น ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 47.6 จุด (ดัชนีน้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) โดยส่วนหนึ่งมาจากตามความต้องการสินค้าที่ลดลง ทว่า ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวได้ดี ชี้จาก ดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับกว่า 50.8 จุด หนุนโดยตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% ตามคาด หรือ +0.50% ตามการประชุมครั้งก่อนๆ (จากระดับปัจจุบันที่ 4.00%)ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารฝั่งยุโรปและแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษที่ชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ เดือนกุมภาพันธ์ แม้จะชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็อยู่ที่ระดับสูงถึง 9.8% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดยตลาดมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปจะเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนมีนาคม สะท้อนผ่าน ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคการบริการ (Composite PMI) ที่ระดับ 52 จุด สำหรับยูโรโซน และระดับ 52.7 จุด สำหรับอังกฤษ ซึ่งส่วนหนึ่งหนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ หลังวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรปไม่ได้น่ากังวลมากนัก

▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า การชะลอตัวต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ และภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ต่อ ขณะที่ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 6.25% หลังอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงถึง 8.6% นอกจากผลการประชุมของธนาคารกลางดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่า 4% กอปรกับ ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการบริการ ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนมีนาคมที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55-56 จุด ก็จะเพิ่มโอกาสธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

▪ ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกุมภาพันธ์ จะยังคงหดตัว -7%y/y สอดคล้องกับภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัว +2%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเกือบ -2 พันล้านดอลลาร์ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC โดยมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแรกแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง (จับตาแนวต้านสำคัญของราคาทองคำแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะเริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยหรือไม่ หลังแรงขายสุทธิหุ้นไทยเริ่มชะลอตัวลง และดัชนี SET ก็เริ่มส่งสัญญาณอาจกลับตัวหรือรีบาวด์ขึ้นได้ในระยะสั้น ส่วน Valuation ของหุ้นไทยก็ถือว่า ถูกลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร (Forward P/E ล่าสุด 15.1 เท่า)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ (หลังจากปรับตัวอ่อนค่าลงเกือบ -1% ในสัปดาห์ก่อน) หากเฟดไม่ได้กังวลต่อปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารมากนัก และคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่สะท้อนว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.50% อนึ่ง หากในช่วงก่อนการประชุม FOMC ตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลปัญหาเสถียรภาพของธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงเลือกที่จะถือ ทองคำ หรือ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่า เงินดอลลาร์

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.80-34.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์