สตง. ร่วมสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ล่าสุดลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของงานจัดจ้างทำระบบป่าเปียกในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดทางภาคเหนือ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้ นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจภาคเหนือในวงกว้าง ซึ่งการจัดทำระบบป่าเปียก เช่น การสร้างฝายกั้นน้ำ เป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้โดยใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟ โดยความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดไฟป่าได้ยากและส่งผลให้การพัฒนาและอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ได้ผลมากขึ้น สตง. จึงได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของงานจัดจ้างทำระบบป่าเปียกในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 26 แห่ง จากทั้งหมด 70 แห่ง และการตรวจสอบเอกสารภาพถ่ายการตรวจรับงานก่อสร้างของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ และบันทึกรายงานการควบคุมงานของผู้ควบคุมงาน ปรากฏข้อตรวจพบดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การก่อสร้างระบบป่าเปียกไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และ   ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์

1.1 ตามแบบรูปรายการกำหนดให้พื้นฝาย ค.ส.ล. มีความหนา 0.20 เมตร แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีระบบป่าเปียก จำนวน 4 แห่ง ที่มีความหนาระหว่าง 0.10-0.15 เมตร ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบป่าเปียกไม่มีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ ในส่วนของงานท่อ LDPE ตามแบบรูปรายการได้กำหนดให้ต้องขุดคู วางท่อฝังกลบตามแนว Contour ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีระบบป่าเปียก จำนวน 20 แห่ง ที่ไม่มีการขุดคูฝังกลบท่อ LDPE ซึ่งอาจทำให้ท่อ LDPE เกิดความชำรุดบกพร่องหรือสูญหาย และรัฐต้องจ่ายเงินค่าจ้างสูงกว่าปริมาณงานที่ได้รับ

1.2 ระบบป่าเปียก จำนวน 3 แห่ง ไม่มีท่อ PVC และท่อ LDPE ให้ตรวจสอบ และมีอีกจำนวน 3 แห่ง ที่มีการรื้อถอนท่อ PVC และท่อ LDPE แล้วนำไปเก็บรักษาไว้โดยผู้นำชุมชน ส่งผลให้ไม่สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและรักษาระบบนิเวศน์ในพื้นที่ป่าชุมชนได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ระบบป่าเปียกได้ตามวัตถุประสงค์

1.3 จากการตรวจสอบสังเกตการณ์งานก่อสร้างระบบป่าเปียก จำนวน 26 แห่ง พบว่าไม่มีน้ำไหลผ่านไปสู่หัวน้ำหยด จำนวน 25 แห่ง ทำให้พื้นที่ก่อสร้างไม่มีความชุ่มชื้นและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบป่าเปียกได้ตามวัตถุประสงค์

ข้อตรวจพบที่ 2 งานก่อสร้างระบบป่าเปียกมีความชำรุดบกพร่อง

จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์ระบบป่าเปียกจำนวน 26 แห่ง พบว่า ท่อ LDPE ถูกไฟไหม้เสียหาย จำนวน 4 แห่ง ทำให้ระบบป่าเปียกไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ และอาจมีความเสียหายของระบบป่าเปียกที่ไม่ได้ตรวจสอบอีกจำนวน 44 แห่ง

รายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า สาเหตุที่การก่อสร้างระบบป่าเปียกไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เกิดจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและผู้ควบคุมงานปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง โดยไม่ได้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของระบบป่าเปียก และไม่ได้ควบคุมงานเป็นประจำทุกวัน รวมถึงไม่ได้จัดทำบันทึกการควบคุมงานด้วยตนเอง แต่กลับลงลายมือชื่อในรายงานบันทึกการควบคุมงาน   ที่มีบุคคลอื่นจัดทำให้ ซึ่งไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริง และหลังจากที่ สตง. ได้รับฟังคำชี้แจงของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและผู้ควบคุมงานแล้ว ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรีบดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และให้ตรวจสอบระบบป่าเปียกเพิ่มเติมอีก 44 แห่ง หากพบว่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้รีบดำเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ส่วนกรณีการตรวจรับงานและการควบคุมงานบกพร่อง ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากงานก่อสร้างระบบป่าเปียก จำนวน 25 แห่ง รวมเป็นเงิน 1.96 ล้านบาท ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและผู้ควบคุมงาน ฐานปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ส่วนกรณีงานก่อสร้างระบบป่าเปียกมีความชำรุดบกพร่องจากท่อ LDPE ที่ถูกไฟไหม้เสียหาย จำนวน 4 แห่ง มีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา โดยไม่มีการขุดคูฝังกลบท่อ LDPE  สตง. พิจารณาแล้วจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานโดยเร็วและให้ตรวจสอบระบบป่าเปียกเพิ่มเติมอีก 44 แห่ง หากพบว่ามีความชำรุดบกพร่อง ให้รีบดำเนินการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานโดยเร็ว