อย. จับมือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจขนมจีนและเส้นก๋วยเตี๋ยว

อย. ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการตรวจวัตถุกันเสียในขนมจีนและก๋วยเตี๋ยวชนิดเส้นสดที่สุ่มเก็บจากตลาดสดและห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพและปริมณฑล ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน พบสถานการณ์ ดีขึ้น อย. พร้อมประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานที่ผลิต ให้คำแนะนำ และจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการแสดงฉลากที่ถูกต้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และมีการเฝ้าระวังการใช้วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดเส้นสดมาอย่างต่อเนื่องขณะเดียวกันทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ความอนุเคราะห์ในการติดตามเฝ้าระวัง วัตถุกันเสียในเส้นขนมจีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุด อย. ได้สุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดเส้นสดในช่วงระหว่างปี 2560 – 2562 พบจำนวนผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านมาตรฐานลดลง (ปริมาณวัตถุกันเสียกรด เบนโซอิกสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) กล่าวคือปี 2560 ไม่ผ่านมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 9.4 ปี 2561 ผ่านมาตรฐานทั้งหมด และปัจจุบันมีการพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายสำหรับการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ดังนั้นปี 2562 อย. จึงนำมาใช้ร่วมกับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยตรวจได้ถึง 230 ตัวอย่าง จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ซึ่งผลตรวจพบไม่ผ่านมาตรฐานเพียงร้อยละ 1.43 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จำนวน 3 ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี จำนวน 4 ราย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกในตัวอย่างเส้นขนมจีน จำนวน 31 ตัวอย่าง ที่เก็บตัวอย่างอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (สุ่มตัวอย่างเดือนพฤษภาคม 2562) พบว่า มีขนมจีน 2 ยี่ห้อ (คิดเป็นร้อยละ 6) คือ ยี่ห้อหมื่นบูรพา ตลาดคลองเตย และ M&A บ้านขนมจีนปทุมจากตลาดสี่มุมเมือง ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้นจากครั้งแรกที่ตรวจพบสารกันบูดเกิดมาตรฐาน 2 ยี่ห้อ จาก 12 ยี่ห้อ (ร้อยละ 17) และในครั้งที่สองพบ 2 ยี่ห้อ จาก 17 ยี่ห้อ (ร้อยละ 12) นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการแสดงฉลาก พบว่า มีขนมจีน 4 ยี่ห้อ จาก 31 ยี่ห้อ เท่านั้น ที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดไว้บนฉลาก และยังพบว่าขนมจีนบางยี่ห้อมีการแสดงข้อความบนฉลากว่า “ปราศจากสารกันบูด” “ปราศจากสิ่งเจือปน” หรือ “ไม่มีสารเจือปน” แต่ผลการตรวจพบว่ามีการใช้สารกันบูด ซึ่งถือว่าข้อมูลที่แจ้งบนฉลากเป็นเท็จ ทั้งนี้ ขนมจีนจัดเป็นอาหารที่คนไทยนิยมกินบ่อย หากมีการใช้สารกันบูดเกินปริมาณที่กำหนดอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภค ดังนั้น การผลักดันให้ผู้ผลิตขนมจีนตื่นตัว ผลิตขนมจีนที่มีคุณภาพและแสดงฉลากที่ถูกต้องนั้น ถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลบนฉลากในการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคขนมจีนได้ว่ายี่ห้อใดที่ใช้สารกันบูด หรือไม่ใช้สารกันบูดเลย

เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่พบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน และการแสดงฉลากไม่ถูกต้องของขนมจีนและเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดเส้นสดนั้น ทาง อย. ได้มีการประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิต พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิตเพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งจะดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการแสดงฉลากที่ถูกต้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินมาตรฐานดังกล่าว มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากตรวจพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียในปริมาณมากจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ มีโทษปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป

****************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 25 มิถุนายน 2562 แถลงข่าว 34 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562