คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ชนรถกระบะ” เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ที่จังหวัดพัทลุง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ทะเบียน 81-0532 ตรัง (ส่วนหัว) ทะเบียน 81-0533 ตรัง (ส่วนหาง) บรรทุกตอไม้ เกิดเหตุยางล้อหน้าด้านขวาแตกเสียหลักพุ่งข้ามฝั่งถนนมาชนรถยนต์กระบะ ทะเบียน บฉ 4330 พัทลุง บริเวณถนนสายเอเชีย ฝั่งขาขึ้น หมู่ 3 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์กระบะเสียชีวิต จำนวน 5 ราย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันที โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ทะเบียน 81-0532 ตรัง (ส่วนหัว) ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 13 ตุลาคม 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 13 ตุลาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 600,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 1,200,000 บาทต่อครั้ง และให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 100,000 บาท ผู้โดยสาร 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 100,000 บาทต่อคน โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

สำหรับทะเบียน 81-0533 ตรัง (ส่วนหาง) ทำประกันภัยภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 13 ตุลาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 13 ตุลาคม 2566 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 500,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 600,000 บาทต่อครั้ง และความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันภัย 450,000 บาทต่อครั้ง โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

ด้านรถยนต์กระบะ ทะเบียน บฉ 4330 พัทลุง ได้ทำประกันภัยภาคบังคับกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 26 มกราคม 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 มกราคม 2567 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน โดยยังไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ขับขี่รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ฐานความผิดขับขี่รถโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายและทำให้มีผู้เสียชีวิต ทายาทโดยธรรมของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่เสียชีวิตในรถยนต์กระบะทั้ง 5 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,000,000 บาท จากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 (ส่วนหัว) 500,000 บาท และจากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 (ส่วนห่าง) 500,000 บาท โดยในวันที่ 9 มีนาคม 2566 สำนักงาน คปภ. จังหวัดพัทลุง ได้ประสานงานบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งบริษัทตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตและได้มอบหมายให้พนักงานของบริษัทในพื้นที่ติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว ในส่วนของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์กระบะภาคบังคับ บริษัทตกลงจ่ายค่าปลงศพเบื้องต้น รายละ 35,000 บาท ภายหลังได้รับเอกสารของทายาทครบถ้วน โดยสำนักงาน คปภ. จะช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวกและติดตามอย่างใกล้ชิดให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้

“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย