ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงานต่างด้าว

วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. นายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อรับฟังปัญหา/ อุปสรรคในการดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในรายงานต่างด้าวตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรอง (SOP) ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ โดยได้กำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ดบูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบการในการดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล การทำประกันสังคม เป็นต้น

เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสวัสดิการจากสถานประกอบการ อย่างเป็นธรรม และเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิมอีกด้วย โดยมี นางสาวอัชนีญา ไหมหรือ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ รักษาราชการแทนแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสำนักงานประกันสังคมจังหวัด ชั้น 2

จากนั้น เวลา 13.30 น. นายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อตรวจคุ้มครองดูแลสิทธิแรงงานของลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยมีนายโสภณ มีหอม และนางธัญญา มีหอม กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดร้อยเอ็ด ให้การต้อนรับ ณ บริษัท ธันวาพาณิชย์ จำกัด เลขที่ 133/1 หมู่ที่ 6 ตำบลหมูม้น อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นสถานประกอบการประเภทรีไซเคิล มีลูกจ้างทั้งหมด 90 คน แบ่งเป็น แรงงานไทย 40 คน และแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง 50 คน

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานของจังหวัดร้อยเอ็ด (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565) ประกอบด้วยสถานประกอบการในจังหวัด จำนวน 109 แห่ง มีลูกจ้าง ทั้งหมด 2,484 คน โดยมีแรงงานต่างด้าว ทั้งหมด 707 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวประเภททั่วไป 132 คน พิสูจน์สัญชาติเดิม 152 คน แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และ MOU ทั้งหมด 409 คน แยกเป็นเมียนมา 84 คน กัมพูชา 45 คน ลาว 280 คน