Key Highlights
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. ชะลอลงที่ 3.79% (YoY) จากราคาหมวดอาหารสดที่ปรับลดลงตามราคาผักและผลไม้ ไข่ไก่ และข้าวสารเจ้าที่ลดลง เป็นสำคัญ และหมวดพลังงานชะลอลงจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงที่ 1.93% (YoY) ตามราคาหมวดอาหารที่ชะลอลงจากผลของฐานในปีก่อนที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันพืชที่ปรับตัวลดลง
- Krungthai COMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายไปจนถึงกลางปีนี้ และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งติดต่อกัน ในการประชุมเดือน มี.ค. และเดือน พ.ค. โดยคาดว่าระดับราคาสินค้าจะยังปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงและทยอยเพิ่มต่อเนื่อง เช่น การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในเดือน มี.ค. ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ สะท้อนจากราคาสินค้าในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ เป็นต้น
ฤชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. ชะลอลงที่ 3.79% จากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงและผลของฐานปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. อยู่ที่ 3.79% (YoY) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 5.02% (YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 4.2% [1]และเราคาดไว้ที่ 4.0% จากการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของราคาหมวดพลังงาน 7.75% (YoY) เทียบกับเดือน ม.ค. ที่ 11.08% (YoY) ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากผลของฐานในปีก่อนที่สูงขึ้นด้วยผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และราคาหมวดอาหารสดซึ่งชะลอลง 7.14% (YoY) เทียบกับ 7.32% (YoY) ในเดือนก่อน จากการะชะลอตัวของราคาผักและผลไม้ ราคาไข่ไก่ และราคาข้าวสารเจ้า เป็นสำคัญ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงที่ 1.93% (YoY) เทียบกับ 3.04% (YoY) ในเดือนก่อน ตามราคาหมวดอาหารที่ชะลอตัวจากผลของฐานในปีก่อนที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันพืชที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการบางหมวดขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าโดยสารสาธารณะ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2 เดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.40% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.48%
Implication:
- Krungthai COMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายไปจนถึงกลางปีนี้และแรงกดดันเงินเฟ้อจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. อยู่ที่ 3.79% (YoY) แม้จะต่ำกว่าการคาดการณ์ของเราเล็กน้อยที่ 4.0% (YoY) จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงจากเดือนก่อน -0.12% (MoM) ตามราคาอาหารสดที่ลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.93% (YoY) สอดคล้องกับที่เราคาดการณ์ไว้โดยราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 0.11% (MoM) จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่แบกรับไปยังราคาสินค้า และคาดว่าราคาสินค้าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกสักระยะตามต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงและราคาที่ยังจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มปรับเพิ่มขึ้นอีก 15 บาทต่อถัง 15 กก. ในเดือน มี.ค. ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. อีกทั้ง การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ สะท้อนจากระดับราคาสินค้าในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. เช่น ราคาสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และราคาสินค้าหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ส่วนหนึ่งจากราคาค่าห้องพักโรงแรมที่สูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายไปอีกระยะหนึ่งก่อนปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ และคาดว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งละ 25 bps ติดต่อกันในการประชุมเดือน มี.ค. และเดือน พ.ค. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 2.0% ในกลางปีนี้
[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as of March 2023)