รศ. ดร.นิษณา นามวาท หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ลงนามร่วมมือกับ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma Research Institute: CARI) จัดตั้งศูนย์ฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU International Phenome Center, KKUIPC) โดยจะมีบทบาทสำคัญ ในการให้บริการตรวจการแสดงออกของยีน แบบแผนโปรตีนและเมแทบอไลต์สำหรับผู้ประกอบการในภาครัฐและเอกชน ทั้งในอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและยา และอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อใช้รับรองการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐศาสตร์ชีวภาพ (Bio-economics) บริการตรวจวินิจฉัยโรคแบบแม่นยำและเฉพาะบุคคล (Personalized and Precision Medicine) รวมถึงการให้บริการด้านการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับการศึกษาด้านฟีโนมแก่นักวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ระดับชาติและระดับสากล โดยจะรวมถึงการให้บริการงานทั้งงานวิจัย และงานตรวจวิเคราะห์ทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสารปนเปื้อนสารพิษ หรือสารสกัดจากธรรมชาติ หรือตรวจองค์ประกอบในผลไม้ ในพืชผัก ในอาหาร พร้อมกับตรวจวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยต่าง ๆ ได้
ด้าน รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ม.ขอนแก่น กล่าวว่า “ในส่วนของงานวิจัยและพัฒนา ที่ผ่านมาคนจะรู้จักคำว่า “จีโนมิกส์” ซึ่งหมายถึง การศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดที่จำเป็นในการสร้างและการดำรงชีวิตอย่างปกติของสิ่งมีชีวิต และเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น เครื่องมือวิเคราะห์ชั้นสูงสมัยใหม่มากมาย เช่น Nuclear Magnetic Resonance หรือ NMR Spectroscopy และ Liquid Chromatography Mass Spectrometer หรือ LC-MS ร่วมกับเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลทางเคมีขั้นสูง หรือ Chemometrics ทำให้สามารถศึกษา “ฟีโนม” ได้ดีขึ้น โดย ฟีโนมมิกส์ (Phenomics) คือ การศึกษาลักษณะที่แสดงออกโดยการโต้ตอบระหว่างยีนส์ และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย อาหาร ยา รูปแบบการดำรงชีวิต หรือโรคภัยต่างๆ เพื่อช่วยทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้มีความเสี่ยงมากหรือน้อยต่อโรคต่าง ๆ ที่คนๆหนึ่งจะเป็นได้อย่างไร นับว่าเป็นศาสตร์ที่จะช่วยทำให้เราได้ทราบถึงการดำเนินของโรคในแต่ละบุคคล รวมถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่จำเพาะต่อบุคคลได้อย่างแม่นยำ ถึงแม้จะป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่เนื่องจากมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันจึงอาจจะตอบสนองต่อโรคต่าง ๆ ได้ไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Medicine) เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการรักษามากที่สุด
ศูนย์ฟีโนมนานาชาติขอนแก่น เป็นศูนย์ใหม่ที่จะส่งเสริมให้มีการศึกษาและการฝึกอบรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ และการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สามารถตรวจในระดับของยีนในระดับของโปรตีนซึ่งหรือสารที่มีขนาดเล็กซึ่งมีผลต่อชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องของสารเล็ก ๆ ที่อยู่ในพืชสัตว์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ ศูนย์ฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมจะให้บริการตรวจการแสดงออกของยีน แบบแผนโปรตีน และเมแทบอไลต์ รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลที่พร้อมให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชนอย่างครบวงจร รวมไปถึงการให้การสนับสนุนด้านการวิจัย พัฒนาและประกันคุณภาพของโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินงานภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันจะนำไปสู่เพื่อขยายผลเข้าสู่เชิงพาณิชย์โดยสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและยา อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อรองรับการเปิดตลาดไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economics) อันจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ในอนาคตอันใกล้
ข่าว/ภาพ: วัชรา น้อยชมภู