สธ. จับมือ 5 ภาคี รณรงค์ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย 4 กรกฎาคม ชวนร่วมลดมลพิษทางอากาศ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ร่วมรณรงค์ 4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมกันลดมลพิษทางอากาศ

วันที่ 24 มิถุนายน 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว 4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่พระราชทานพระอนุญาตกำหนดให้วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” พระองค์เป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานอันแน่วแน่ มั่นคง ต่อการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและเป็นแบบอย่าง  สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2562 รณรงค์ภายใต้แนวคิด “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน (Better Air Quality for Better Health)” เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่สำคัญ โดยกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั่วโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก และทุกปีจะมีประชากรกว่า 7 ล้านคนเสียชีวิตจากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยกรมอนามัย ดำเนินการเฝ้าระวัง สื่อสารและแจ้งเตือนประชาชน ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันสุขภาพตนเอง รวมทั้งสนับสนุนการใช้กฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ    ที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ

“ทั้งนี้ การจัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้อง นางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการดูแลใส่ใจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 กำหนดจัดประชุมระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการมอบรางวัล “Princess Environmental Health Awards” แก่บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและรางวัลประกวดคลิปวิดีโอด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยตลอดปี 2562 ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ รณรงค์ลดมลพิษอากาศ ด้วยการละเว้นการเผาในที่โล่ง ลดการใช้พลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะ และในปี 2562 กรมอนามัย จะดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยลดมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมมือกับกรมอนามัยในการจัดการมลพิษเพื่อปกป้องคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนงานร่วมกันมาโดยตลอด อาทิ    การเฝ้าระวังฝุ่นละอองในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง การสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดการน้ำเสียชุมชนและการเพิ่มศักยภาพแกนนำชุมชนในการเฝ้าระวังความเสี่ยงเบื้องต้น รวมถึงการออกกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ การกำกับดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

ทางด้าน ดร.รุจยา บุณยทุมานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มไดออกซินและสารตกค้างยาวนาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นภาคีร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สนับสนุนงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ให้ทันต่อสภาวะมลพิษ เช่น อนุสัญญาสต๊อกโฮล์ม อนุสัญญามินามาตะ มีงานวิจัยและ  เป็นห้องปฏิบัติการภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการวิเคราะห์จะช่วยให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อเกิดมลพิษ เช่น การเผาขยะชุมชน การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ในสื่อต่างๆ หรือประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เกิดความตระหนัก และไม่ก่อเกิดมลพิษอากาศ นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ทางด้าน นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ อุปนายกสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและกำหนดมาตรฐานงานอนามัยสิ่งแวดล้อมตามสภาวการณ์ของประเทศ สมาคมฯ ร่วมจัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559เพื่อให้ข้อมูลการผลักดันวิชาชีพอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นวิชาชีพควบคุมของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยงานอนามัยสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีมาตรฐาน สามารถควบคุมการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด อาทิ งานสุขาภิบาลอาหาร การควบคุมพาหะนำโรค คุณภาพอากาศ เหตุรำคาญ เป็นต้น การประชุมในครั้งนี้จะมีการเสวนาเรื่องบทบาทของนักอนามัยสิ่งแวดล้อมภายใต้วิชาชีพควบคุม และความก้าวหน้าของการออกพระราชกฤษฎีกาให้วิชาชีพอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นวิชาชีพควบคุม จึงขอเชิญชวนมายังนักอนามัยสิ่งแวดล้อมและผู้สนใจ

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 24 มิถุนายน 2562