วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พลตำรวจเอก จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “โครงการปฏิบัติการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism -NRM)” แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มุ่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 22 จังหวัดติดชายทะเล
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่มุ่งมั่นและจริงจังในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานอย่างเข้มแข็งในทุกมิติ และมีนโยบายยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) นับตั้งแต่การเผชิญเหตุ การคัดกรองเบื้องต้น การแสวงหาข้อเท็จจริง การคัดแยกผู้เสียหาย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสำหรับผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้สามารถแก้ไขปัญหาและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืน กรมประมงหนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ภายใต้คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “โครงการปฏิบัติการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM)” ภายใต้แผนการปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติการบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จาก 4 หน่วยงาน จำนวน 278 ราย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สังกัดกรมประมง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อบรมระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 และรุ่นที่ 2 อบรมระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี
สำหรับโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ด้วยการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานผ่านการบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ แนวทางการดำเนินงานตามโครงการฯ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ เทคนิคในการสัมภาษณ์คัดกรองแรงงานต่างด้าวภาคประมงทะเลเบื้องต้น การตรวจสอบเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ พร้อมแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล โดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจำนวน 50 ชุด สำหรับคัดกรองแรงงานในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อควบคุมและป้องกันการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวของภาคประมงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคการประมงทะเลอย่างจริงจัง สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล