พบครั้งแรกในไทยและเอเชีย มวนตัวห้ำชนิดใหม่ชอบกินเพลี้ยไฟศัตรูพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ

นักวิจัยกรมวิชาการเกษตร เปิดตัวมวนตัวห้ำแมลงศัตรูธรรมชาติชนิดใหม่ ชอบกินเพลี้ยไฟมากที่สุด  เผยเป็นมวนตัวห้ำที่ไม่เคยพบในไทยและเอเชียตะวันออกฉียงใต้  แถมเพาะเลี้ยงง่าย  ขยายปริมาณได้มาก  ต้นทุนน้อย  ต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้  ช่วยเกษตรกรลดใช้สารเคมี

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยด้านการควบคุมกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี   ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร   ถือเป็นวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดระดับความเสียหายจากศัตรูพืช   และสามารถช่วยควบคุมประชากรแมลงศัตรูพืชไม่ให้สูงจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชได้   รวมทั้งลดปัญหาสารตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นวิธีการที่ได้ใช้ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ในประเทศไทยมีศัตรูพืชประเภทปากดูดที่สำคัญสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง และไรขาว เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ซึ่งสามารถลดประชากรของแมลงศัตรูพืชได้ชั่วคราวเท่านั้น   เนื่องจากศัตรูพืชในกลุ่มนี้มีขนาดเล็กและมีวงชีวิตสั้น สามารถปรับตัวสร้างความต้านทานต่อสารเคมีได้รวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อผู้ใช้โดยสารพิษเข้าไปสะสมในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจากสารพิษตกค้าง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  ได้สำรวจพบแมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญถือเป็นแมลงที่พบครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติดังกล่าวเป็นมวนตัวห้ำชนิด Cardiastethus exiguus Poppius พบที่แปลงมันสำปะหลังในจังหวัดกาญจนบุรี  โดยมวนตัวห้ำชนิดนี้ชอบกินเพลี้ยไฟมากที่สุด  ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีมวนตัวห้ำที่สามารถกินเพลี้ยไฟได้ รวมทั้งยังชอบกินแมลงศัตรูพืชซึ่งเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับมวนตัวห้ำ C. exiguus ด้านชีววิทยา การเพาะเลี้ยง โดยพบว่าเป็นมวนตัวห้ำที่มีศักยภาพดีในการควบคุมแมลงและไรศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟฝ้าย ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาระบาดรุนแรงในพืชเศรษฐกิจ และมีรายงานการต้านทานสารฆ่าแมลง  ยากในการป้องกันกำจัด   ที่สำคัญคือค้นพบวิธีการเพาะเลี้ยงมวนตัวห้ำ C. exiguus ที่ง่าย สะดวก และประหยัดได้สำเร็จ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงขยายในปริมาณมาก หรือต่อยอดการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้

“ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้คือเพลี้ยไฟมีความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง  ดังนั้นการค้นพบมวนตัวห้ำชนิดใหม่นี้แม้จะไม่ได้ทำให้เพลี้ยไฟหมดไปจากประเทศไทย  แต่เป็นการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดได้  ที่สำคัญการควบคุมโดยชีววิธีคือ การลดใช้สารเคมีฆ่าแมลง  ทำให้ลดต้นทุนการผลิต  และเป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้  ผู้บริโภค  รวมทั้งสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยข้อมูลของมวนตัวห้ำชนิดใหม่นี้จึงสามารถลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน  ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2561 ของกรมวิชาการเกษตรด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว