“ลุงป้อม” ขับเคลื่อน การแก้ปัญหาทรัพยากรทางทะเล หนุนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อความสมบูรณ์ของทะเลไทยยั่งยืน

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้ง 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบวิดิโอคอเฟอเรนซ์

โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ มีวาระสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณามอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เร่งดำเนินการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ในระยะที่ 2 เนื่องจากแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ในระยะที่ 1 นั้นถือว่าผลออกมาเป็นที่น่ายินดีเพราะสามารถออกกฎกระทรวงประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียนจังหวัดตรังเป็นพื้นที่คุ้มครองและได้จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์พะยูนฯและสามารถร่วมออกลาดตระเวนครบทั้ง 13 พื้นที่ สามารถช่วยชีวิตพะยูนที่เกยตื้นได้ 5 ตัว จากการเกยตื้นแบบมีชีวิต ทั้งสิ้น 6 ตัว ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำให้นำปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินแผนงานระยะที่ 1 ไปปรับใช้เพื่อจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติระยะที่ 2 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทางด้านการดำเนินงานด้านการกัดเซาะชายฝั่ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอเพื่อให้พิจารณากลั่นกรองโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งสิ้น 48 โครงการโดยมี 11 โครงการที่เห็นควรให้เสนอสำนักงบประมาณพิจารณา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ย้ำกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้บูรณาการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น พร้อมได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดและได้มอบหมายนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและกำกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีสำหรับสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นจากการสำรวจพบแนวปะการัง 1.5 แสนไร่ สมบูรณ์มากถึงร้อยละ 52.3 และกว่า 280 ชนิด ด้านป่าชายเลนพบเป็นป่าสมบูรณ์จำนวน 1.74 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 9 ปีก่อน 2 แสนไร่ ด้านสัตว์ทะเล หายากพบการวางไข่ของเต่าทะเลจำนวนมากถึง 502 รัง พะยูน จำนวน 273 ตัว โลมาและวาฬ จำนวน 3,025 ตัว ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย ระบบนิเวศที่สมบูรณ์จะเกื้อหนุนต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำการประมงของไทย อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้จะต้องใช้อย่างสมดุล รู้คุณค่า จึงจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างยั่งยืน

สำหรับงานด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังมีอีกหลายประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง การแก้ไขปัญหาขยะทะเลในฐานะผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน และการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ทศวรรษแห่งมหาสมุทรที่ประเทศไทยได้รับคัดเลือกเป็นที่ตั้งสำนักงานประสานทศวรรษแห่งมหาสมุทร และได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้มองปัญหาอย่างรอบด้าน ขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงแก้ไขปัญหาได้ในทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเร่งผลักดันการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมตามข้อมติที่ประชุม หากมีประเด็นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ในด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เร่งเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา เพื่อจะได้ขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ต่อไป

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเร่งบูรณาการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงฯ ให้ร่วมกันดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับและติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลการดำเนินงานที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมครั้งนี้ เป็นความสำเร็จที่หลายฝ่ายได้ร่วมกันดำเนินงาน อาทิ การแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคปะการังแทบสีเหลืองบริเวณหมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จังหวัดชลบุรี และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นการเร่งด่วน การลดมลพิษทางทะเลและขยะทะเล การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายและการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้มองถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ต่อไป