วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum Of Agreement : MOA) ระหว่าง คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) เพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
โดยมี ผศ.ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร คณบดีคณะสหเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา นางนที ชวนสนิท ผู้อำนวยการบริหารสถาบัน IBERD สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) พร้อมด้วย ประธานหอการค้า จากจังหวัดชลบุรี ระยอง และ จันทบุรี นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก ร่วมเป็นสักขีพยาน ด้วย ณ โรงแรม โนโวเทล มารีน่า ศรีราชา จ.ชลบุรี
นายสุรชัย กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังแรงงานรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และกระทรวงแรงงาน โดยท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการดูแลสุขภาพเป็นองค์รวม ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรไทย ที่ทรงคุณค่า จนโหวตให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลิตบุคลากรด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ EEC Model ที่เกิดจากแนวคิดของ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมองว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) เป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนของอุตสาหกรรมยุคใหม่ หรือ S Curve ยึดโยงกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อรัฐบาลประกาศแนวคิดนี้ออกไป พร้อมกับโรดแมปการสร้างคน กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานพร้อมเข้ามาสนับสนุน ซึ่งอีอีซีก็พร้อมทำงานร่วมกับทั้งสองกระทรวง แต่ต้องเป็นการศึกษาในแนวทางที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น
เนื่องจากอีอีซีมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว นำมาสู่การจัดตั้งคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) โครงสร้างการดำเนินงานตามกรอบงาน EEC HDC คือการศึกษาและวิจัย ความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี จากนั้นจึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ผลิตบุคลากรป้อนให้ตามความต้อองการภายใต้ EEC Model เพื่อแก้ปัญหา 3 ด้านคือ แก้ปัญหาคนตกงาน ผลิตบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี และปั้นบุคลากรที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย
“สำหรับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินงานตามแนวทาง EEC Model โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ และมุ่งเน้นและยกระดับโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยรัฐ-เอกชน ร่วมจ่าย 50-50 ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนกำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบสนองนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ การเป็นมหาวิทยาลัยหลักของการพัฒนากำลังคนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งภายหลังจากการลงนามความเข้าใจเสร็จสิ้นแล้วจะเป็นการดำเนินการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรอย่างเป็นทางการต่อไป”นายสุรชัย กล่าวท้ายสุด