พม.ชี้แจง กรณีมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว พาครอบครัวน้องโชกุน ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

จากที่มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว พาครอบครัวน้องโชกุน กรณี เด็กชายวัย 1 ขวบ 11 เดือน เสียชีวิต เนอสเซอรี่อ้างผ้าอุดจมูกขาดอากาศหายใจ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เข้าพบรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ) เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน 4 ข้อ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ขอชี้แจงดังนี้

1. ขอทราบว่าสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้มีใบอนุญาตถูกต้องครบถ้วน มีการตรวจสอบความพร้อมของสถานประกอบการแห่งนี้หรือไม่ อย่างไร ในส่วนของกรมกิจการเด็กและเยาวชนจะมีมาตรการกับสถานประกอบการแห่งนี้อย่างไร

– ตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็กดังกล่าว พบว่า สถานรับเลี้ยงเด็กได้รับใบอนุญาตเริ่มดำเนินการตามใบอนุญาตในปี 2560 ออกให้ ณ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 และต่อมาในปี 2563 มีการเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต ซึ่งออกให้ ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2663 มีเจ้าหน้าที่ลงตรวจเยี่ยมก่อนอนุญาต ปัจจุบันมีหนังสือแจ้งยุติการดำเนินกิจการและปิดสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้แล้ว

2. ขอเรียกร้องให้กรมฯ มีข้อกำหนดให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนติดตั้งกล้องวงจรปิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยความยินยอมจากผู้ปกครองเด็ก สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ซึ่งต้องมีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วยสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน และเพื่อป้องกันการอ้างง่าย ๆ ว่ากล้องวงจรปิดเสีย และในกรณีนี้ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยว่ากล้องวงจรปิดเสียจริงหรือไม่

– ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าสถานรับเลี้ยงเด็กต้องติดกล้องวงจรปิดในสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ต้องมีพี่เลี้ยงดูแลเด็กตลอดเวลา สำหรับการติดกล้องวงจรปิด กรมกิจการเด็กและเยาวชนมีข้อแนะนำให้เป็นทางเลือกของสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีความพร้อมเพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กในสถานรับเลี้ยง อีกรูปแบบหนึ่ง และการยินยอมจากผู้ปกครองที่จะมีการบันทึกภาพของเด็กมารับบริการ แต่การติดตั้งกล้องวงจรปิดต้องไม่ล่วงล้ำหรือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

3. ขอให้กรมฯ ซึ่งดูแลสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ ถอดบทเรียนจากกรณีนี้รวมถึงเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อนำไปสู่ การปรับปรุงแก้ไข กลไกต่าง ๆ ให้รัดกุมมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อาทิการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ การฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฯลฯ รวมไปถึงการควบคุมสถานประกอบการที่มีเด็กในความดูแลไม่ถึง 6 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตว่าจะดำเนินการกำกับดูแลอย่างไร

– ในกรณีนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชนอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาน รับเลี้ยงเด็ก รวมไปถึงสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้มีการจ้างที่ปรึกษา
ด้านกฎหมาย เพื่อยกร่าง ปรับปรุงกฎกระทรวง ที่อาจจะครอบคลุมไปถึงการพิจารณาจำนวนของเด็กที่เข้ารับบริการในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน จากเดิมที่สถานที่รับเลี้ยงเด็กไม่เกิน 6 คน ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก

– การควบคุมดูแลสถานที่ดูแลเด็กไม่ถึง 6 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย หากมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น หรือพบเห็นการกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งมาที่ สายด่วน พม. 1300 หรือช่องทางอื่น ๆ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมกิจการเด็กและเยาวชน จะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

4. ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ ให้เร่งทำความจริงให้ปรากฏ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้สูญเสียโดยเร็ว และฝากไปถึงผู้ปกครองทุกท่าน ให้ช่วยกันตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนให้ดีและละเอียดที่สุด ควรเฝ้าระวังลูกหลานอย่างต่อเนื่อง

– สำหรับการดำเนินคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบข้อเท็จจริง กรมกิจการเด็กและเยาวชน ยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าที่ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม โดยมีหนังสือชี้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว