กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วประเทศ วางแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ป้องกันปัญหาก่อความรุนแรง (SMI-V Care) โดยกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักให้องค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากร มุ่งเป้าให้ผู้ป่วยจิตเวชและสังคมไทยปลอดภัย โดยข้อมูลข่าวความรุนแรงในสังคม เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 พบร้อยละ 18 มาจากปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ร้อยละ 22 เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเกิดเหตุในชุมชนมากกว่าที่บ้าน
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง (SMI-V Care) ในเขตสุขภาพ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจบทบาทภารกิจ และหาแนวทางการดำเนินงานในการบูรณาการร่วมกันของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และภาคีเครือข่ายนอกระบบสาธารณสุข ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลในโรงพยาบาลและติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนอย่างไร้รอยต่อ ตามเป้าหมาย “ผู้ป่วยจิตเวชปลอดภัยสังคมไทยปลอดภัย” โดยมี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม กว่า 150 คน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรง (Severe Mental Illness – High Risk to Violence; SMI-V) หากมีการดูแลตั้งแต่ก่อนรับเข้าสู่โรงพยาบาล ขณะอยู่ในโรงพยาบาล และต่อเนื่องจนถึงชุมชน จะช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง (SMI-V Care) ให้ครอบคลุมในสถานพยาบาลทุกระดับ ภายใต้กลไกความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแลรักษาและติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชน โดยมีกรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการด้านองค์ความรู้ จัดระบบการดูแลรักษาและให้บริการ ภายใต้กฎหมายสุขภาพจิต และประมวลกฎหมายยาเสพติด นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาบุคลากรด้านจิตเวช ทั้งจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยด้านจิตเวชและยาเสพติดที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลการติดตามข่าวความรุนแรงในสังคม ระหว่างเดือนพฤษภาคม -กันยายน 2565 จำนวน 2,300 ข่าว พบว่า ร้อยละ 18 มาจากปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ร้อยละ 22 เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และพบว่าเกิดเหตุในชุมชนมากกว่าในบ้าน ซึ่งทำให้มีประชาชนที่เสี่ยงหรือสัมผัสความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ก่อความรุนแรงประมาณร้อยละ 3 เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวช แสดงให้เห็นว่ายังคงมีผู้ที่มีความเสี่ยงก่อพฤติกรรมรุนแรงหรือผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในชุมชน