20 ก.พ. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนาม โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า “วันนี้เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่” ที่พวกเราชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่าย จะได้เป็นพลังที่สำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาชีพเสริม และอาชีพหลักที่ก่อเกิดจากการนำภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษมาส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย “ทำในสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้” เพราะความคุ้นชินของระบบอุตสาหกรรมจากการใช้สารเคมี สีเคมี มันฝังอยู่ในจิตสำนึกของวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เราพยายามพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่
“ด้วยพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นในการทรงงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ผลักดันและเชื้อเชิญให้พี่น้องประชาชนได้ปรับเปลี่ยนการทำงานหาเลี้ยงชีพในด้านงานผ้า ด้วยการเลิกใช้สีเคมี เลิกใช้เทคโนโลยีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยทรงมีพระดำรัสให้ประชาชนช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยทั้ง 76 จังหวัด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้พี่น้องประชาชนพึ่งพาตนเองในเรื่องของการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และปลูกพืชให้สีธรรมชาติ มาช่วยดูแลครอบครัว ดูแลสังคม และทำให้การประกอบการเรื่องการทอผ้าประเภทต่าง ๆ เกิดความเป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะยังผลทำให้เกิดความมั่นคงของชาติและส่งผลต่อความมั่นคงของโลก เพราะการที่เราใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาตินั้นจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน”
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระประสงค์อันแรงกล้า โดยทรงแสดงออกทุกวิถีทางในการทำให้พี่น้องคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ เช่น เมื่อครั้งเสด็จทรงงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ และเมื่อผู้ประกอบการทูลเกล้าฯ ถวายผืนผ้าสวย ๆ งาม ๆ และเมื่อทรงตรัสถามจนได้ทราบว่าผ้านั้นใช้สีเคมี พระองค์ท่านจะทรงปฏิเสธแบบตรงไปตรงมา ว่าไม่รับ และขอให้ช่วยกลับไปทอ โดยใช้ผ้าที่ใช้สีธรรมชาติ แล้วค่อยนำมาถวายใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการใช้สีเคมีในการทอผ้ามาสู่การใช้สีธรรมชาติ นอกจากนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงอนาคตของการดำรงชีวิตของประชาชน จึงพระราชทานแนวพระดำริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ผ่านกระทรวงมหาดไทย ทั้งการน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ เช่น การบริหารจัดการขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังจะรับรองในวันที่ 28 ก.พ. 66 นี้ว่าถังขยะเปียกสามารถนับจำนวนหน่วยการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยายกาศของโลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้ รวมถึงการลดความหิวโหย ความอดอยาก และการสร้างความเท่าเทียม ทำให้ผู้คนในหมู่บ้าน/ชุมชน องค์กร สถาบันการศึกษา และพี่น้องประชาชน มาเป็น Partnership ทำสิ่งที่ดี เพื่อ Change for Good เฉกเช่นที่พวกเรามาพร้อมหน้ากันในวันนี้ ด้วยความภาคภูมิใจ ขอขอบคุณคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อ.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน ที่เพียรพยายามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำให้เราลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกันก้าวไปสู่อนาคตที่ทำให้โลกใบนี้อยู่คู่กับลูกหลานของเรา อันเป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเราเดินไปข้างหน้าพร้อมกับนานาชาติ BigStep ในการขับเคลื่อน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนด้วยคำมั่นสัญญาว่า “เราจะใช้เวลาที่มีอยู่ทุกนาทีเพื่อช่วยกัน Change for Good เพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ เป็นโลกที่คนทุกคนอาศัยอย่างมีความสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตไปพร้อม ๆ กันกับ UN และ 7 ภาคีเครือข่ายตลอดไป”
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองกระทรวงในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการลดภาวะโลกร้อนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างเร็วมากขึ้น เพราะภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมประเทศไทยและโลกใบนี้ การทำในวันนี้เป็นการทำในระดับฐานรากที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 “ต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้นำมาตรการดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้า “ผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อันหมายความว่าหลังจากนี้ต่อไป “ผ้าไทย” นอกจากมีคุณค่าต่อชุมชน/สังคม และมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนแล้ว ยังทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มโอกาสการแข่งขันด้านการตลาดกับประเทศต่าง ๆ และนำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรที่มีความยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยในการพัฒนาด้วยความมั่นคง มั่นคั่ง สู่อนาคตที่ยั่งยืน” รองปลัด ทส. กล่าวเพิ่มเติม
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า มีความยินดีในการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในสินค้า OTOP ประเภทผ้าของไทย และการก้าวสู่สากล รวมถึงเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนหลายโครงการ เช่น โครงการดอนกอยโมเดล, โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ, โครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากลรวมถึงโครงการพัฒนารูปแบบชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับโครงการดอนกอยโมเดล และโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการรักษาและต่อยอดพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ตลอดจนได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพระองค์ มีพระดำริให้ ขับเคลื่อนโครงการด้านผ้าไทยและส่งเสริมให้มีการย้อมสีธรรมชาติให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่อง ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้า และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และต้นแบบ ของการพัฒนาชุมชนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy : BCG สร้างความตระหนักให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งไปถึงผู้สวมใส่หากใช้ สารเคมีในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”
ด้าน นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่เป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลในการมองเห็นความสำคัญของก้าวที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการริเริ่มการทดสอบการวัดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนของกระบวนการผลิตผ้าไทย โดยใช้มาตรฐานสากลที่กำหนดโดยกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) การประเมิน Carbon Footprint จากการผลิตสิ่งทอในระดับท้องถิ่น อันเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลายประเทศในสหภาพยุโรปได้ดำเนินการประเมินและกำหนดค่ามาตรฐาน Carbon Footprint ในกระบวนการผลิตสิ่งทอแล้ว
“การดำเนินการในเรื่องนี้จะส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่สู่การผลิตผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป นอกจากนี้จะยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภาคส่วนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 6 – ร้อยละ 8 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก และจะเป็นประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากอีกด้วย เพราะสตรีไทยผู้ทอผ้าเกือบ 2,000,000 คนที่ทำงานผ่านกลุ่มทอผ้ากว่า 100,000 กลุ่มที่ผลิตผ้าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนี้ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้ดำเนินการสนับสนุนการคัดแยกขยะทั่วประเทศ และความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน อ้างอิงจากการตรวจติดตามคุณภาพโดยหน่วยงานภายนอกนั้น แสดงให้เห็นว่าการขยายมาตรการการแยกขยะและการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนไปยังกว่า 12 ล้านครัวเรือนจะนำไปสู่การลดคาร์บอนกว่า 530,000 ตัน และเกิดเป็นคาร์บอนเครดิต โดยคาร์บอนเครดิตเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนยกระดับการคัดแยกขยะในชุมชนและการทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ สหประชาชาติและกระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมมือเป็น Partnership กันเพื่อสร้างประโยชน์และการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนในระยะยาวและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ ในขณะเดียวกันก็จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนทางสังคมให้กับผู้คนหลายล้านคนในอีกหลายปีข้างหน้า” นางกีต้าฯ กล่าวในช่วงท้าย