กรมชลประทาน ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และจัดสรรน้ำตามแผนฤดูแล้งอย่างประณีต

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 54,929 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 14,508 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,083 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.99 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.30 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำให้มีการจัดระเบียบการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวให้ทันตามแผนที่กำหนดไว้ สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ภาพรวมสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประณีต เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม ตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้งของรัฐบาล โดยได้เน้นย้ำให้สำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด