สธ. รับมอบวัคซีนโควิด 19 รุ่นใหม่ “Bivalent” กว่า 5 แสนโดส จาก “เกาหลีใต้” เตรียมกระจายทั่วประเทศ สิ้นเดือน ก.พ.นี้

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รับมอบวัคซีนโควิด 19 รุ่นใหม่ ไฟเซอร์ bivalent จำนวน 501,120 โดส จากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี โดยมี นาย มุน ซึงฮยอน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย นาย จอน โจยอง (Jeon Joyoung) อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย และคณะ เป็นผู้แทนส่งมอบ

นายอนุทิน กล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทย และกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีที่มีความปรารถนาดีให้กับประเทศไทยเสมอมา รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด 19 โดยสาธารณรัฐเกาหลีเคยสนับสนุนวัคซีนแอสตราเซนเนก้าให้กับไทยเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 470,000 โดส ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตให้กับคนไทยและคนเกาหลีที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี สำหรับวัคซีนที่สนับสนุนเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ของไฟเซอร์ ชนิด bivalent ซึ่งจะเป็นล็อตแรกของประเทศไทยที่จะนำมาใช้สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงและประชาชน

“ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 เข็ม ครอบคลุมประชากรมากกว่า 83% และฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 39% ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อสู้กับภัยสุขภาพระดับโลก สำหรับการรับมอบวัคซีนในวันนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลีที่ไม่ใช่เพียง 65 ปีเท่านั้น แต่จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดไป” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และผลการศึกษาในช่วงปลายปี 2565 ในประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลก มีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ bivalent เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มขึ้นไป ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 28-56% ความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีนรุ่นแรกชนิด monovalent สามารถใช้ทั้งชนิด monovalent และ bivalent มาเป็นเข็มกระตุ้นได้ เนื่องจากผลในการป้องกันโรคไม่แตกต่างกัน โดยกรมควบคุมโรคจะจัดสรรวัคซีนให้ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตามสัดส่วนของประชากรแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งจัดสรรให้กับเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ (Uhosnet) กรมการแพทย์ และสภากาชาดไทย คาดว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนประมาณสิ้นเดือน กุมภาพันธ์นี้

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ bivalent เข็มกระตุ้น ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรง (กลุ่ม 608) รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีความเสี่ยง เช่น สัมผัสกลุ่มเสี่ยง สัมผัสนักท่องเที่ยว เป็นต้น โดยต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม จะฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน และเข็มที่ 4 ห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 4 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้วและเคยติดเชื้อ จะฉีดหลังติดเชื้ออย่างน้อย 6 เดือน