ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2562

การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวที่ร้อยละ 5.8 มีมูลค่า 21.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับ การค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยร่วม อาทิ ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา และรัสเซียและ CIS สำหรับรายสินค้า การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาดทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐฯ ไต้หวัน  และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรและ SME ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวม 5 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 

ในภาวะการค้าที่มีความท้าทายสูง  การวางกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ การสนับสนุนสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาด และการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาค จะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสการส่งออกในหลายตลาดและสินค้า 

ปัจจัยเชิงบวก ที่สนับสนุนต่อการส่งออก เช่น ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงภายนอก อาทิ ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน นโยบายการค้าและการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่างๆ กระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนพฤษภาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 663,647 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 666,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 3,163 ล้านบาท รวม 5 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 3,204,470 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.3) การนำเข้ามีมูลค่า 3,229,146 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.5) และการค้าขาดดุล 24,677 ล้านบาท

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤษภาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 21,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 20,836 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.6 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 5 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 101,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.7) การนำเข้ามีมูลค่า 100,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 1.0) และการค้าเกินดุล 731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 1.4 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 28.3 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้)ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.1 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 4.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 0.8 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และอินเดีย) สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 14.4 (หดตัวในตลาดไต้หวัน กัมพูชา จีน มาเลเซีย และเมียนมา แต่ยังขยายตัวดีในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และลาว) ข้าว หดตัวที่ร้อยละ 13.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อังโกลา ฮ่องกง และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ และญี่ปุ่น) ยางพารา กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 10.0 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ ตุรกี และบราซิล) ทูน่ากระป๋อง หดตัวเกือบทุกตลาด หดตัวที่ร้อยละ 6.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน แคนาดา และออสเตรเลีย) รวม 5 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรยังขยายตัวที่ร้อยละ 0.4

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 5.8 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 70.0 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม) นาฬิกา และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 65.3 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 26.5 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และเมียนมา) อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ ขยายตัวร้อยละ 11.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเบลเยียม) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 61.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่ขยายตัวระดับสูงในตลาดฮ่องกง) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 20.1 (หดตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และอินเดีย แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 17.2 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม เม็กซิโก และสหรัฐฯ) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 16.4 (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น) รวม 5 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 2.9

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่ยังหดตัว ตามแนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัว และผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่ปรากฏผลชัดจนกว่าจะถึงการประชุม จี 20 ทำให้บรรยากาศทางการค้าที่ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอ่อนแอลงและกระทบต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในบางประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ บรูไน และอินเดีย อันเป็นผลจากรายสินค้าสำคัญในแต่ละตลาด ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวร้อยละ 1.2 โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 4.4 และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 8.6 ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ตลาดศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ 7.0 เป็นผลมาจากการส่งออกไปอาเซียน-5 CLMV และจีนหดตัวร้อยละ 14.3 4.7 และ 7.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอินเดีย และเกาหลีใต้ ยังคงขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 4.7 ตามลำดับ สำหรับ ตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 7.2 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 17.0 6.1 และ 1.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CIS และแคนาดา เริ่มกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 และ 11.0

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562

เศรษฐกิจและการค้าโลกโดยรวมอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนสูง วัฏจักรเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มชะลอตัว เป็นผลมาจากปัจจัยร่วม อาทิ สงครามการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ/ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป กระทบต่อความเชื่อมั่นและกดดันเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ให้ชะลอตัวในระยะที่ผ่านมา

จุดแข็งที่สำคัญต่อการส่งออกไทย คือ มีการกระจายตัวของตลาดส่งออกในระดับดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยปี 2561 การส่งออกไทยมีค่าดัชนีการกระจุกตัวของตลาดส่งออก (Concentration of Importing Countries) อยู่ที่ 0.05 เป็นระดับที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แสดงถึงความหลากหลายของตลาดส่งออกไทย ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดมากเกินไป และมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่คาดคิดได้ดี ขณะที่ ลาว บรูไน เมียนมา และเวียดนาม มีลักษณะตลาดส่งออกที่ค่อนข้างกระจุกตัว ในการนี้ ไทยควรใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ ขยายโอกาสการส่งออกในตลาดศักยภาพ

กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ อาทิ กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV  และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์