เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการกำหนดแนวทางการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายอิทธิพล เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ว่า เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมรณรงค์ให้คนไทยตระหนักในคุณค่า สาระ ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ และร่วมมือกันอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม ตามแบบแผนอันดีงามของไทย ที่แสดงออกถึงความกตัญญู ความรัก ความสามัคคี มุ่งหมายให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์การเสนอประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง เน้นประเพณีอันงดงาม ที่มีการปฏิบัติกันทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการต่อยอดสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรม Soft Power เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมรองรับการเปิดประเทศในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างความสุข สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
รมว.วธ. เปิดเผยต่อว่า เพื่อให้กิจกรรมประเพณีสงกรานต์ในภาพรวมของประเทศเป็นไปด้วยความดีงามและเหมาะสม รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาล วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้การประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 32 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจรกรมการขนส่งทางบก กรมการท่องเที่ยว กรมทรัพยากรน้ำ กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การประปานครหลวง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปทุมธานี สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเมาไม่ขับ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ข้อสรุปแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ครอบคลุมคุณค่าสาระของวัฒนธรรม ประเพณี เผยแพร่อัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระตุ้นการท่องเที่ยว รักษาสุขอนามัย ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประกอบด้วย 9 แนวทางสำคัญ ดังนี้
1. ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงาม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ
2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานที่นับถือ สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป ขอพรผู้สูงอายุ
4. รณรงค์ให้แต่งกายที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค หรือชุดสุภาพ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อชาวต่างชาติ
5. การขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ตามแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๖ เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
6. หน่วยงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และด้านบริการประชาชน ให้รักษามาตรการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุข ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน
7. ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะและใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม
8. การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ๖๐๘ (กลุ่มเสี่ยง) ให้รักษามาตรการการป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 และโรคทางเดินหายใจ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน
9. ส่งเสริมภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก
ในส่วนการเสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า องค์การยูเนสโก ได้รับรายการสงกรานต์ของประเทศไทยเข้าสู่วาระการพิจารณาขึ้นทะเบียนในช่วงปลายปี พ.ศ. 2566 นี้แล้ว เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วาระดังกล่าวให้สาธารณะได้รับรู้และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงเตรียมจัดประชุมเสวนาเพื่อจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ภายในเดือนมีนาคม 2566 นี้ เป็นกรณีศึกษา ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น สมุทรปราการ และนครศรีธรรมราช เป็นการรองรับการเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ในโอกาสดังกล่าวด้วย
อธิบดีสวธ.ยังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนกิจกรรมสงกรานต์ ที่จะจัดในปีนี้ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่คุณค่าสาระ ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมสืบสานความงดงามของประเพณีสงกรานต์ อาทิ งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในวันที่ 13 เมษายน 2566 ณ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประกอบด้วย การสรงน้ำขอพรพระพุทธรูปสำคัญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้อาวุโส ทำบุญทำทานเสริมสิริมงคลให้ชีวิตรับปีใหม่ไทย ในส่วนของต่างจังหวัด เช่น
จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานแบบย้อนยุคสงกรานต์วิถีล้านนา “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” 12-16 เม.ย. 66 จังหวัดชลบุรี จัดงานวันไหลบางแสน 16-21 เม.ย. 66 จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร (วิถีพุทธ-พราหมณ์) 13-15 เม.ย. 66 และ จังหวัดสมุทรปราการ จัดประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่าง 21-23 เม.ย. 66 เป็นต้น