บกปภ.ช.ผนึกกำลังทุกภาคส่วน และ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันจัดการฝึก IDMEx 2019 เสริมศักยภาพการเผชิญเหตุภัยจากสึนามิ

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กระทรวงมหาดไทย ผนึกกำลังทุกภาคส่วนจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) กรณีภัยจากสึนามิ ในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2562 ณ พื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล มุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนทดสอบกลไกกระบวนการแจ้งเตือนภัยและอพยพประชาชน การบัญชาการเหตุการณ์ การประสานการปฏิบัติ การจัดการผลกระทบจากสึนามิอย่างรอบด้าน เพื่อให้การจัดการภาวะฉุกเฉินมีเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

 พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นระบบและมีเอกภาพ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) กรณีภัยจากสึนามิ ในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2562 ณ พื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล โดยมุ่งเน้นการทดสอบกลไกการปฏิบัติการของกระบวนการแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุและอพยพประชาชน รวมถึงการจัดการผลกระทบจากสึนามิอย่างรอบด้าน เพื่อให้การจัดการภาวะฉุกเฉินมีเอกภาพ และประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวถึงการฝึก IDMEx 2019 กรณีภัยจากสึนามิ ว่า การฝึกฯ ในครั้งนี้ ได้จำลองการฝึกการจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) ภายใต้สถานการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย และเกิดสึนามิขนาดใหญ่ซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบสื่อสารหลักไม่สามารถใช้งานได้ ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก รวมถึงคลื่นสึนามิได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งกำหนดกิจกรรมการฝึกฯ ครอบคลุมทั้งรูปแบบการฝึกบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) ในวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2562 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน จะร่วมซักซ้อมการปฏิบัติในทุกภารกิจด้านการจัดการในภาวะฉุกฉินภายใต้แผนเผชิญเหตุสึนามิระดับจังหวัด ส่วนการฝึกเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise : FEX) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 จะเป็นการฝึกซักซ้อมการประสานงานและสั่งการแก้ไขปัญหาในระดับการบัญชาการเหตุการณ์เชื่อมโยงการสั่งการ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติระหว่างส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้การสั่งการและขั้นตอนการปฏิบัติเดียวกัน นอกจากนี้ ได้กำหนดการฝึกปฏิบัติ (Drill) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ 1.การฝึกปฏิบัติด้านการแจ้งเตือนภัยและการอพยพประชาชน ในช่วงวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2562 ณ พื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อทดสอบระบบเตือนภัยสึนามิ พร้อมซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุสึนามิและแผนปฏิบัติการอพยพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ทักษะการอพยพหนีภัยอย่างปลอดภัย 2.การฝึกปฏิบัติ 6 สถานี ในช่วงวันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2562 โดยขอบเขตการฝึกประกอบด้วย การจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้อพยพ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ติดค้างในพื้นที่เข้าถึงยาก การปฏิบัติการทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการสื่อสาร ประสานงาน สั่งการ การจัดการทรัพยากรปฏิบัติการ ณ จุดระดมทรัพยากร และบทบาทของจิตอาสาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ด้านการบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุและจัดการในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในศักยภาพและความพร้อมด้านการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐ