นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน (รง) เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับกลุ่มประเทศ GMS ตามโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียงตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน(ยูนนาน) และไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยปี 2562 มีเป้าหมายดำเนินการ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (GMS-ASEAN) เป้าหมายจำนวน 2,000 คน ดำเนินการแล้วจำนวน 1,926 คน ประกอบด้วย บุคลากรจากประเทศลาว 342 คน, กัมพูชา 160 คน, เมียนมา 162 คน,มาเลเซีย 60 คน และไทย 1,202 คน และโครงการศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป้าหมายจำนวน 580 คน ดำเนินการแล้วจำนวน 269 คน
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมชมการฝึกและติดตามการดำเนินงาน รวมถึงให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งระหว่างวันที่ 10-19 มิ.ย. 2562 สถาบันฯ นานาชาติ ดำเนินการจัดฝึกอบรม สาขาการพัฒนาผู้ประเมินด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากประเทศเมียนมา จำนวน 21 คน หลักสูตร 60 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์งานพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม การประเมินและสามารถออกแบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ยังประเทศของตนได้
นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดี กพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งบุคลากรของประเทศกลุ่ม GMS จะเป็นบุคลากรของภาครัฐ ครูฝึก ที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอด เพื่อขยายผลการฝึกให้กับแรงงานในประเทศของตนเอง ให้มีความรู้ความสามารถมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักลงทุนไทยในเขตติดต่อ มีแรงงานที่มีคุณภาพและทักษะที่สูงขึ้น ทันต่อเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิต ช่วยเสริมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนได้เป็นอย่างดี
“สำหรับการฝึกด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันฯ นานาชาติ ดำเนินการฝึกในหลายสาขา เช่น เทคนิคบังคับปั้นจั่นชนิดติดรถบรรทุก เทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัย การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังมีผู้ผ่านการฝึกอบรมการขับรถลากจูง จากสถาบันฯ นานาชาติ เพื่อไปทำงานในเขตพื้นที่ EEC อีกด้วย” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย