นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำแผนการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และปฏิทินการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้การตรวจ ติดตาม กำกับ ดูแล และเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการในสังกัดวธ.เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายรัฐบาล นโยบายวธ. และแผนปฏิบัติการวธ. ปี 2566 – 2570 ที่มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชน โดยเน้นแนวทาง
1. การตรวจราชการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ ร่วมกับผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงต่างๆ ตามประเด็นนโยบายของรัฐบาล เน้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม พัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ยกระดับศักยภาพแรงงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือข้อร้องเรียนของประชาชน
2. การตรวจติดตามงานตามนโยบายรัฐบาล งานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี อาทิ การขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาศักยภาพพลังบวร : บ้าน วัด/ศาสนสถาน โรงเรียน (ราชการ) ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย สร้างการรับรู้ให้วันที่ 12 สิงหาคม เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” ผลักดันและขับเคลื่อน Soft Power ของไทยให้เกิดประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก
3. การตรวจราชการกรณีปกติ ในส่วนของงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและจุดเน้นที่สำคัญของปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อาทิ การบูรณาการงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (ต่อยอดเมืองเดิม เพิ่มเติมเมืองใหม่) ขับเคลื่อนโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” 10 สุดยอดชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ โครงการ 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ ปรับภูมิทัศน์ ฟื้นฟูวิถีชีวิต รวมถึงพัฒนา ต่อยอด ยกระดับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ส่งเสริมให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้านมีรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและผลักดันให้ศิลปะ วัฒนธรรม มีบทบาทพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมของไทยยกระดับ Soft Power ของท้องถิ่น ผ่านสื่อสมัยใหม่ คอนเทนต์ไทย และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม พัฒนานวัตกรรมทางวัฒนธรรม ดิจิทัลคอนเทนต์ ออนไลน์ Platform ให้มีห้องสมุดชุมชน พัฒนากฎหมายด้านวัฒนธรรมให้ทันสมัย จัดทำศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม และ Big Data เน้นให้บุคลากรและเครือข่ายวัฒนธรรมมีแนวคิดทันสมัยและเป็นมืออาชีพ
4.การตรวจราชการกรณีพิเศษ เป็นการตรวจราชการตามที่ได้รับมอบหมายในเรื่องต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลต้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขในทันที โดยเฉพาะกรณีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม รับฟังเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ วธ.ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการของวธ. จำนวน 2 ราย ตรวจราชการ ดังนี้
1. นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจราชการ 40 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก สระเเก้ว และปราจีนบุรี
2. นายกฤษฎา คงคะจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจราชการ 37 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี