วันที่ 25 มกราคม 2566 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ( เขื่อนเพชร ) นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ( เขื่อนเพชร ) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับ สถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเพชรบุรี ว่า ในการรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง ทางโครงการฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างใกล้ชิด มีแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566 ของเขื่อนเพชรบุรี โดยมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา
นายสันต์ เปิดเผยว่า เขื่อนเพชรบุรี ได้รับน้ำที่มาจาก ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก มีความจุอยู่ที่ 71% อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีความจุอยู่ที่ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ มีความจุอยู่ที่ 76% ไหลมารวมกันที่เขื่อนเพชรบุรี โดยใช้เขื่อนเพชรบุรีเป็นตัวจัดการน้ำ โดยการยกระดับน้ำ ทดน้ำ เข้าสู่พื้นที่การเกษตรบริเวณท้ายเขื่อนเพชรบุรีประมาณ 4 แสนไร่ และใช้เขื่อนเพชรบุรีปล่อยน้ำลงไปในท้ายเหมือง ผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม โดยมีการระบายน้ำวันละ 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยการส่งน้ำสนับสนุนในหลายด้าน เช่น ด้านการเพาะปลูก เช่นการทำนา ปลูกพืชไร่ พืชสวน ด้านการรักษาระบบนิเวศน์ และ ด้านการอุปโภคบริโภค โดยพื้นที่นาปรังประมาณ 1 แสน ถึง 1แสน 3 หมื่นไร่ จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำหลักคือ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน และยังสามารถสนับสนุนน้ำให้กับเกษตรในพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านอีกด้วย
นอกจากการบริหารจัดการน้ำให้กับเกษตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ยังได้สร้างคลอง d9 ขึ้นเพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัยให้กับประชาชนชาวเพชรบุรีอีกด้วย
ในด้านการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2566 กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ การจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน