นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ H.E. Mr. Patrick Bourne เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และหารือประเด็นเกี่ยวกับภาคคมนาคมขนส่ง โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมการหารือ ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า การเข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับภาคคมนาคมขนส่งระหว่างกระทรวงคมนาคมกับเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยในวันนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและนานาชาติ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคตให้สามารถตอบสนองผู้ใช้บริการและรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport) ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusivity) พร้อมเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้ง 4 มิติ (ทางบก ราง น้ำ และอากาศ) รวมทั้งการสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาลไทย ประกอบด้วย การจัดทำแผนการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งเป็นระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ระหว่างไทย – สปป.ลาว และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) การพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมือง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางทะเลในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดชุมพรและระนอง (Land Bridge) เพื่อเชื่อมโครงข่ายการขนส่งของประเทศและระหว่างประเทศทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและต้นทุนค่าขนส่ง การสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้หน่วยงานในสังกัดได้มีนโยบายนำรถ เรือ และรถไฟพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้คุณภาพอากาศในระบบการคมนาคมขนส่งของไทยดีขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายด้านการเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย และใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ก่อสร้างท่าเรือตามแนวคิด Smart Pier นำระบบอัตโนมัติ เช่น เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร และการให้ข้อมูลผู้โดยสารมาช่วยในการให้บริการประชาชน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อยกระดับเป็น “สถานีเรือ” เทียบเท่า “สถานีรถไฟฟ้า” ในอนาคต
ทั้งนี้ ประเทศไทยกับประเทศไอร์แลนด์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางการทูตมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงคมนาคมได้หารือกับอดีตเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่ง นโยบายและการดำเนินงานที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ ความร่วมมือระหว่างบริษัท AerCap Ireland Limited และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนาบุคลากรการบิน และความก้าวหน้าของไอร์แลนด์ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การบิน และความปลอดภัยทางถนน ซึ่งไอร์แลนด์พร้อมให้การสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนความรู้การดำเนินนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนร่วมกับฝ่ายไทยต่อไป
ทางฝั่งไอร์แลนด์ชื่นชมยุทธศาสตร์และแนวทางการทำงานของรัฐบาลไทยที่ช่วยผลักดันประเด็นด้านการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่และพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนด้านวิชาการในการผลักดันให้ระบบคมนาคมของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม