กระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมคณะกรรมการให้คำปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์แก่คณะกรรมการบริหารของ Asia Pacific Observatory (APO) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมเสนอแนะประเด็นสำคัญเพื่อพัฒนานโยบายสุขภาพและศักยภาพด้านงานวิจัยของประเทศสมาชิก ให้ประชาชนในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมีสุขภาพดีถ้วนหน้า
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการให้คำปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์แก่คณะกรรมการบริหารของ Asia Pacific Observatory (APO) on Health Systems and Policies ครั้งที่ 9 และการประชุมคณะกรรมการบริหารของ APO on Health Systems and Policies ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยดุ๊ก คุนซาน มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นคณะกรรมการบริหาร Asia Pacific Observatory (APO) ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและเสนอแนะ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับบทบาทของ APO ให้พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้กำหนดนโยบายของประเทศสมาชิกให้มากยิ่งขึ้น และการคัดเลือกสถาบันวิชาการ 3 กลุ่ม และมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ที่มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพื่อมาทำงานร่วมกับ APO ระหว่างปี พ.ศ.2562 – 2564 ทั้งนี้ มีกลุ่มสถาบันวิชาการของไทย ที่ได้รับคัดเลือกได้แก่ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือ International Health Policy Program (IHPP) นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สถาบันวิชาการของไทยจะได้เสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยกับประเทศสมาชิก APO
สำหรับ Asia Pacific Observatory (APO) ก่อตั้งในปี พ.ศ.2554 มีหน้าที่หลักในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนโยบายและระบบสุขภาพของประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ดังกล่าวพัฒนานโยบายสุขภาพเพื่อการบรรลุการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าของประเทศสมาชิก ซึ่งเน้นการทำวิจัย สร้างองค์ความรู้ เป็นข้อมูลให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยในปัจจุบันมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไทย และยังได้รับความร่วมมือจากเขตการปกครองฮ่องกง ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตกอีกด้วย