บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสานต่อภารกิจขับเคลื่อนอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) เข้าสู่ปีที่ 8 ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการ นำทักษะใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับโลกศตวรรษที่ 21 มาใช้ อาทิ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบโค้ด (Coding) การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning และ STEM เพื่อบูรณาการความรู้ระหว่างวิชาต่างๆ ควบคู่กับต่อยอดทักษะวิชาชีพ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของทีมผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ร่วมทำงานวางแผนยกระดับการพัฒนาการศึกษาร่วมกับผู้บริหารของโรงเรียน
นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะบริหารโครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยเป็น 1 ใน 12 องค์กรเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี เพื่อร่วมยกระดับความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งในปี 2566 ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 8 มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพและเทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพการเรียนการสอน และส่งเสริมการนำทักษะใหม่ๆและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21 มาใช้ อาทิ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบโค้ด (Coding) การจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการ Proactive teacher for active learning และโครงการ STEM Education
บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพ โดยนำโมเดลองค์ความรู้ (Best Practice)โครงการ “โรงเรือนจําลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่” ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ เพิ่มทักษะอาชีพ ลดปัญหาด้านโภชนาการของเด็กนักเรียน และเป็นแหล่งเรียนรู้อุตสาหกรรมแปรรูปไก่ไข่ขนาดย่อม นำมาถอดบทเรียนของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ เป็น 1 ใน 17 โมเดลต้นแบบให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ส่งเสริมโครงการด้านวิชาชีพอื่นๆ อาทิ โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย โครงการขนมและเบเกอรี่ เป็นต้น
” ซีพีเอฟ มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทำงานร่วมกับสถานศึกษา เราจะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นและอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเราชาวซีพีเอฟ ซึ่งเป็นไปตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ คำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และมองประโยชน์ขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย” นางสาวพิมลรัตน์ กล่าว
นางสาวพิมลรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ซีพีเอฟ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อทำงานวางแผนพัฒนาการศึกษาร่วมกับโรงเรียนในความดูแลของซีพีเอฟ 298 โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี โดยจะเพิ่มจำนวนผู้นำรุ่นใหม่เป็น 150 คน จากปัจจุบันมีผู้นำรุ่นใหม่แล้ว 4 รุ่น รวม 83 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของผู้นำรุ่นใหม่ที่ดูแลโรงเรียนปรับจาก 1 : 4 เป็น 1 : 2 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นเพื่อนคู่คิดกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครู มุ่งสู่เป้าหมายในการยกระดับผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน (School Grading) จากระดับดีสู่ระดับยอดเยี่ยม ทั้งด้านผู้เรียน ด้านการมีส่วนร่วม ด้านผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและกรสอน และด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี เป็นการทำงาน 3 ประสาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน ./