สถาบันเวชศาสตร์ฯ พัฒนาระบบเครือข่ายการบริการผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย

สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ พัฒนาระบบเครือข่ายการบริการผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้ายปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการในทุกระดับของสถานบริการ

นายแพทย์ณัฐพงศ์  วงศ์วิวัฒน์  รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุทำให้ต้องมีบริการด้านการแพทย์และพยาบาลที่ต่างจากในวัยอื่น เนื่องจากอายุมากขึ้นจะมีการถดถอยของสมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ
ในร่างกายเริ่มถดถอย  ประกอบกับผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง เกิดจากสภาพร่างกาย  พฤติกรรม  การดำรงชีวิตที่ผ่านมา ร่วมถึงสิ่งแวดล้อม เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะกระดูกพรุน รวมถึงบาดเจ็บจากการพลัดตก  หกล้ม อาจทำให้เกิดความพิการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบริการทางการแพทย์และความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ
ในการดูแลผู้สูงอายุทั้งทางด้านการแพทย์ สังคม และเศรษฐกิจ สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11(1) ด้านการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้สะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งแผนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในประเด็นการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และการทำงานแบบบูรณาการในหน่วยงานต่างๆ

การดูแลระยะยาวมีความสำคัญมากในระบบสุขภาพและบริการสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือผู้พิการ โดยแบ่งตามระดับความต้องการการดูแล ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมีความต้องการความช่วยเหลือมาก ผู้ดูแลจึงต้องใช้ทักษะทางการพยาบาลในสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งมี 5 ประเภท ได้แก่ บ้านพักคนชรา สถานที่ให้การช่วยเหลือในการ          ดำรงชีพ สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล สถานบริบาล และสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยดูแลระยะยาว ดังนี้ 1. ช่วยเหลือด้านกิจวัตรประจำวัน  2. ช่วยเหลือด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่อเนื่อง เช่น เตรียมอาหาร จัดการเรื่องยา 3. ช่วยเหลือทางด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพหรือการดูแลที่ต้องใช้ทักษะทางการพยาบาล  4. บริการอื่นๆ ดูแลผู้ป่วยให้มีความพร้อมก่อนกลับบ้าน

นายแพทย์สกานต์  บุนนาค  ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการศึกษารูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้ายในประเทศไทยของสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ปี 2558 พบว่าผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้ายส่วนใหญ่ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน โดยเมื่อผู้สูงอายุป่วยเรื้อรังและได้รับการดูแลระยะยาว ต่อมาจะเข้าสู่การดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นการดูแลที่ลดอาการเจ็บปวดหรืออาการอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการให้ความสุขสบายและเปิดโอกาสให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยผู้สูงอายุระยะสุดท้ายต้องการธรรมในศาสนาที่ตนเองนับถือ ต้องการตายอย่างสงบ บรรเทาทุกข์ทรมานในภาวะใกล้ตาย และต้องการการดูแลจากคนใกล้ชิด ความอบอุ่นใจ การให้กำลังใจ ดังนั้นผู้ที่จะให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุระยะสุดท้าย ต้องทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้

ทั้งนี้ สถาบันเวชศาสตร์ฯ เห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบเครือข่ายการบริการผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้ายปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการในทุกระดับของสถานบริการ ซึ่งเป็นระบบการดูแลที่บูรณาการระหว่างโรงพยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นหัวใจสำคัญของการดูแลซึ่งจะทำให้กระบวนการติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้รับการดูแลทุกขั้นตอนจนกระทั่งในชุมชนและที่บ้าน ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น และดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและจากไปอย่างสมศักดิ์ศรี  จึงได้จัดประชุมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ การบริการผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย ให้แก่บุคลากรสหสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ให้มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย  นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมได้เป็นต้นแบบในการศึกษาดูงาน และเป็นพี่เลี้ยงให้โรงพยาบาลที่สนใจด้านการบริการผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้ายในแต่ละเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข  โดยถอดบทเรียนพัฒนาระบบเครือข่ายการบริการผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ไร้รอยต่อ ในพื้นที่ดำเนินการและจัดทำเป็นคู่มือการดูแลผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย

**********************************

#กรมการแพทย์  #สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ   #ผู้ป่วยสูงอายุระยะสุดท้าย