นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สรุปผลงานปี 2565 และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ ปี 2567” โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมงาน ในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ณ อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ด้วยการสร้างศักยภาพและโอกาสให้คนไทยทุกกลุ่มสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และได้รับสิทธิประโยชน์จากการบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค โดยรัฐบาลมั่นใจว่าในปี 2566 จะเป็นโอกาสทองของประเทศไทยตามที่รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ชาติ และเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ ให้มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน จึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เร่งรัดการดำเนินงานตามภารกิจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ประชาชนต้องได้รับความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผลในการเดินทางทุกรูปแบบ โดยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สรุปผลงานปี 2565 และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในปี 2566 และ ปี 2567” ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด ในปีงบประมาณ 2565 และทบทวน ถอดบทเรียนการดำเนินงาน ข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปี 2566 และ ปี 2567 ร่วมกัน ซึ่งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบันได้มอบนโยบายสำคัญและได้มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติในทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศแล้ว จำนวน 105 นโยบาย
สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันแรก (21 ธันวาคม 2565) ได้มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบแนวทางในการสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม คือ การนำนโยบายไปคิดวางแผนสู่การปฏิบัติจริงออกเป็น Action Plan ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเน้น “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง คือ
1) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
2) การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3) การขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
โดยภาพรวมของการบริหารภารกิจของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย
– ระบบคมนาคมขนส่ง 4 มิติ ได้แก่
1) ทางถนน/ทางบก
2) ทางราง
3) ทางน้ำ
4) ทางอากาศ
– ภารกิจ/หน้าที่ 4 ด้าน ได้แก่
1) Infrastructure Developer
2) Regulation/Regulator
3) Promotion & Facilitator
4) Service Provider
– เป้าหมายการให้บริการ 4+2 เป้าหมาย ได้แก่
1) สะดวก (สะอาด)
2) ปลอดภัย
3) ตรงเวลา (รวดเร็ว)
4) ราคาสมเหตุสมผล (ประหยัด)
โดยในการดำเนินการไปสู่เป้าหมายนั้นกระทรวงคมนาคมได้คำนึงถึงการพัฒนาการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ รูปแบบการเดินทางที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม ด้านแนวทางการขับเคลื่อนคมนาคมที่ยั่งยืน ปี 2566 : ย้อนดูอดีตปรับแก้สู่อนาคต ต้องดำเนินการสานต่อดำเนินงานตามนโยบายที่ยังค้างอยู่ไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามตัวชี้วัด เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดในปี 2564/2565 คิดวางระบบป้องกัน แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนในปี 2566/2567
ในส่วนของการจัดสัมมนา Workshop ระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2565 มีจุดประสงค์ เพื่อสรุปผลการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ตาม 79 นโยบาย ในปีงบประมาณ 2565 และทำการประมวลถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการสำหรับนโยบายที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อหาแนวทางในการผลักดันการดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงพิจารณาหาแนวทางการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้เกิดความยั่งยืน ในปี 2566 และ ปี 2567 โดยเนื้อหาการสัมมนามี 3 ส่วน ได้แก่
1. การสรุปผลงานตามนโยบายในปี 2565 จาก 79 นโยบาย 167 โครงการ สามารถสรุปภาพรวมได้ว่าดำเนินการแล้วเสร็จหรือเปิดให้บริการแล้ว รวม 61 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 64 โครงการ และอยู่ในช่วงจัดทำแผนงานหรือออกแบบ จำนวน 42 โครงการ โดยแต่ละหมวดจะมีรายละเอียดดังนี้
1.1 นโยบายด้านการขนส่งทางถนน จำนวน 13 นโยบาย 25 โครงการ แบ่งเป็น เปิดให้บริการแล้ว 5 โครงการ อาทิ การกำหนดความเร็วรถยนต์สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โครงการพัฒนาระบบ M-Flow เป็นต้น โครงการที่ประกวดราคาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน 14 โครงการ อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) โครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต สายกะทู้ – ป่าตอง เป็นต้น และอยู่ระหว่างจัดทำแผนหรือออกแบบ จำนวน 6 โครงการ อาทิ โครงการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP โครงการ Landbridge ชุมพร – ระนอง และมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) เป็นต้น
1.2 นโยบายด้านการขนส่งทางบก จำนวน 19 นโยบาย 24 โครงการ เปิดให้บริการแล้ว 15 โครงการ อาทิ โครงการระบบติดตามตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ โครงการการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์เดลิเวอรี่ โครงการการจัดระเบียบรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โครงการยกระดับคุณภาพการออกใบอนุญาตขับรถ โครงการผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถขนส่งสาธารณะ (EV) อยู่ระหว่างดำเนินงาน 4 โครงการ อาทิ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นต้น และอยู่ระหว่างจัดทำแผนหรือออกแบบ จำนวน 5 โครงการ อาทิ การปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อ ขึ้นไป โครงการจัดหารถประจำทาง EV ของ ขสมก. จำนวน 2,511 คัน
1.3 นโยบายด้านการขนส่งทางราง จำนวน 23 นโยบาย 55 โครงการ เปิดให้บริการแล้ว 18 โครงการ อาทิ โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ รฟท. (บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด) การเร่งรัดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การใช้บัตร EMV เพื่อจ่ายค่าโดยสารบนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง เป็นต้น อยู่ระหว่างดำเนินงาน 15 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ (ระยะแรก) โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เป็นต้น และอยู่ระหว่างจัดทำแผนหรือออกแบบ 22 โครงการ อาทิ พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและสถานีรถไฟทางคู่ และผลักดันการพัฒนารถไฟ EV (EV on Train) เป็นต้น
1.4 นโยบายด้านการขนส่งทางน้ำ จำนวน 15 นโยบาย 34 โครงการ เปิดให้บริการแล้ว 8 โครงการ อาทิ การเปิดให้บริการเรือ RoRo เส้นทางสัตหีบ – เกาะสมุย การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเรือโดยสารสาธารณะ ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพท่าเรือ จำนวน 3 ท่า คือ ท่าบางโพ ท่าราชินี ท่าสาทร การพัฒนาบุคลากรทางน้ำ มากกว่า 3,500 คน เป็นต้น อยู่ระหว่างดำเนินการ 15 โครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นต้น และอยู่ระหว่างจัดทำแผนหรือออกแบบ 11 โครงการ อาทิ ศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ การศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ให้เป็น Automation Port เป็นต้น
1.5 นโยบายด้านการขนส่งทางอากาศ จำนวน 9 นโยบาย 29 โครงการ เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 13 โครงการ อาทิ พัฒนาระบบการเดินอากาศระบบใหม่ ณ ศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร – เพิ่มประสิทธิภาพของสนามบินสุราษฎร์ธานี เป็นต้น โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 10 โครงการ อาทิ การให้สิทธิบริหารท่าอากาศยานของ ทย. แก่ ทอท. จำนวน 3 ท่าอากาศยาน (กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์) เป็นต้น และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำแผนงานหรือออกแบบ จำนวน 6 โครงการ อาทิ โครงการศึกษา ออกแบบ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าอากาศยานภูมิภาคของ ทย. จำนวน 2 แห่ง (ระนอง และชุมพร) เป็นต้น
2. การสานต่อนโยบายปี 2565 ขับเคลื่อนนโยบายในปี 2566 จากนโยบายในปี 2565 ทั้งหมด 79 นโยบาย 167 โครงการนั้น ในส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจำนวน 106 โครงการ หน่วยงานจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายใหม่ 24 นโยบาย ที่จะต้องดำเนินการในปี 2566 ดังนี้
2.1 นโยบายด้านการขนส่งทางถนน จำนวน 4 นโยบาย 15 โครงการ ประกอบด้วย
– การพัฒนาระบบ M-Flow ทางพิเศษสายฉลองรัช สายบูรพาวิถี สายกาญจนาภิเษก
– การแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วน คือ ศึกษาความเหมาะสมทางพิเศษ สายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
– ต่อเติมโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม – ปากท่อ PPP มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุงและโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
– จัดทำมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้างในพื้นที่เปิด
2.2 นโยบายด้านการขนส่งทางบก จำนวน 5 นโยบาย 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) แผนพัฒนาการบริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานฐานข้อมูลระบบ GPS 2) แผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า คือ การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าสถานีรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3) ต่อยอดการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้า คือ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งสินค้า 4) โรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ โดยเปิดรับคัดเลือกโรงเรียนสอนขับรถขนาดใหญ่ และ 5) ยกระดับด้านทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาระบบการจดทะเบียนรถ
2.3 นโยบายด้านการขนส่งทางราง จำนวน 5 นโยบาย 5 โครงการ ประกอบด้วย
– เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม คือ ศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง
– พัฒนามาตรฐานรถไฟทางคู่ คือ ศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำร่างมาตรฐานการซ่อมบำรุงของรถไฟสายประธาน
– พัฒนารถไฟความเร็วสูง คือ ศึกษาความเหมาะสมการเชื่อมโยงรถไฟไทย สปป.ลาว และจีน
– พัฒนามาตรฐานรถไฟฟ้าในเมือง คือ การศึกษาจัดทำร่างมาตรฐานระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ
– ผลักดันการพัฒนารถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค คือ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายท่าฉัตรไชย
2.4 นโยบายด้านการขนส่งทางน้ำ จำนวน 6 นโยบาย 9 โครงการ ประกอบด้วย
– แนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่งต้องคงทน เช่น การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในแม่น้ำป่าสัก ระยะที่ 2 และ 3
– Master Plan ฟื้นฟูชายหาด ต้องครอบคลุม เช่น การเสริมชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 2 สำรวจแหล่งทรายเพื่อเสริมชายหาด