วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีพร้อมส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ และพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนภาคใต้อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (13 ธ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,271 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,314 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,670 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 13,974 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 4,702 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ11 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)
ขณะนี้อยู่ในช่วงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางแล้ว จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ วางแผนจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมรณรงค์ให้เกษตรกรที่มีความพร้อมให้เริ่มทำการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงในปีหน้า เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย รวมทั้งตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรทำได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 16-18 ธ.ค.65 นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่าง จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำท่าจากสถานีอุทกวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรอื่นๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้ทันที ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด