กวช.เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม สร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือของผู้คนในประชาคมโลก

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 7/2565 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการ เพื่อกำกับนโยบาย กำหนดเป้าหมายและวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา Soft Power เพื่อส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไปสู่นานาประเทศ และสนับสนุนกลไกขับเคลื่อน ปัจจัยเอื้ออำนวยการพัฒนา Soft Power รวมถึงการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามอำนาจ หน้าที่ และภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power ซึ่งรัฐบาลได้ยกให้เป็นปัจจัยสำคัญเร่งด่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) อย่างต่อเนื่องให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ในแนวทางที่สอดรับกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการในมิติทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับสถานะของงานวัฒนธรรม สร้างรายได้และคุณค่าทางสังคม และสร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือของผู้คนในประชาคมโลกบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเน้นย้ำประเด็นวัฒนธรรมในฐานะหนึ่งในองค์ประกอบหลักของ Soft Power ได้รับการสนับสนุนเป็นการเฉพาะ โดยบูรณาการองค์ความรู้ในลักษณะข้ามสาขา (Cross-cutting) เพื่อหล่อเลี้ยงและส่งเสริมความเข้มแข็งของ Soft Power ในภาพรวม

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม จะมีการจัดทำแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งได้แก่ การกำหนดจุดยืนด้าน Soft Power ของประเทศไทย (Thailand’s Soft Power Positioning) การสังเคราะห์ “แบรนด์” ประเทศไทย (Nation Branding) และการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ บนฐานข้อมูลเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่จำเป็น อาทิ การถอดรหัสอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเฟ้นหา ทุนทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ การบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน Soft Power อย่างยั่งยืน การจัดทำนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ ที่ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคศิลปวัฒนธรรมของไทยในระดับสากล การจัดทำและพัฒนาสถิติ ดัชนี ตัวชี้วัดด้านวัฒนธรรม ทั้งในมิติสังคมและมิติเศรษฐกิจให้มีมาตรฐาน กำกับ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพของการนำแผนและนโยบายไปปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมของประเทศ และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580 ) และแผนที่เกี่ยวข้องทุกระดับ