วันที่ 5 ธันวาคม 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) คือการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ดูแลชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ซึ่งชายฝั่งทะเลประเทศไทย มีลักษณะหลากหลายเนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน
โดยจำแนกออกได้เป็นชนิดต่างๆ คือ การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท การขาดปริมาณตะกอนสะสมตัวตามแนวชายฝั่งทะเล การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ เช่น คลื่น กระแสน้ำ น้ำขึ้น-น้ำลง ลมและพายุ เป็นต้น และการขาดระบบข้อมูลพื้นฐาน
โดยกรม ทช. ได้มีการสำรวจและศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำเสมอถึงการผลักดันโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาโครงการกำแพงป้องกันคลื่นให้ได้อย่างถาวรและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างไรความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างเร่งด่วน
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการกำแพงกันคลื่นที่ถูกถอดจากโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่าเมื่อปีพ.ศ. 2556 สืบเนื่องจากกรมเจ้าท่าได้แจ้งปัญหา และมีข้อเสนอแนะว่าในปัจจุบันโครงการกำแพงป้องกันคลื่นไม่มีความเหมาะสมในการจัดทำ EIA เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการและประชาชน จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งการทำ EIA ทำให้ไม่สามารถแก้ไข ป้องกัน หรือบรรเทาความเดือดร้อนได้ทันต่อเหตุการณ์ ต่อมาหลังจากที่มีประเด็นในสังคมเกี่ยวกับโครงการกำแพงป้องกันคลื่นระบาดหลายพื้นที่ในปีพ.ศ. 2562 กรม ทช.ได้ยกร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดทำโครงการกำแพงป้องกันคลื่นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยต้องจัดทำ Environmmental Checklist ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำผลกระทบด้านกฎหมาย
ตามที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งกลับมาให้ทบทวน และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 กรม ทช. ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขอให้พิจารณาทบทวนให้กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งกลับเข้าไปทำ EIA ด้าน สผ. ได้เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) เพื่อทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ กก.วล. เกี่ยวกับกำแพงกันคลื่นที่มีมติรับทราบความคืบหน้า และให้ สผ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป จากนั้น สผ. ได้จัดประชุมหารือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเชิญ Beach for life เข้าร่วมประชุมแต่ Beach for life ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทางสผ. จะนำข้อมูลจากการประชุมนำไปประกอบการขอความเห็นจากชมรม Beach for life และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา โครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทุกโครงการ ต้องเสนอผ่านคณะทำงานกลั่นกรองฯ พิจารณาความเหมาะสม ก่อนเสนอรายละเอียดให้สำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งสามารถลดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของโครงการได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กรม ทช. เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันและรักษาพื้นที่ชายฝั่งที่เหลืออยู่ การแก้ไขฟื้นฟูชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาการกัดเซาะและพังทลาย การสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดแนวชายฝั่งทะเล
ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อคุณค่าด้านการท่องเที่ยวตามธรรมชาติ รวมทั้งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างเป็นระบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการพัฒนาแนวชายฝั่งทะเลให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป “นายอรรถพล กล่าวในที่สุด”