สผ. ร่วมกับ 4 หน่วยงาน หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กรณีการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กรณีการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง เมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 – 12.40น. ณ ห้องประชุม 1003 ชั้น 10 อาคารทิปโก้ 2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สผ. ได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงบประมาณ (สงป.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และชมรม Beach for life พร้อมกับประสานแจ้งทางโทรศัพท์เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมหารือฯ แต่เนื่องจากชมรม Beach for life ติดภารกิจจึงไม่สามารถเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวได้ ซึ่งการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กรณีการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ได้มีผลสรุปการประชุมเบื้องต้น ดังนี้

1. กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ไม่ว่าขนาดความยาวเท่าใดย่อมมีผลกระทบทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทำให้สูญเสียชายหาดและระบบนิเวศด้านหน้าของโครงสร้าง เกิดการกัดเซาะบริเวณด้านใต้ของโครงสร้างทำให้เสียหาย และมีผลกระทบเกิดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้างฯ ส่งผลให้บริเวณด้านท้ายของโครงสร้างฯ (Foot scouring) มีการกัดเซาะต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งระดับของผลกระทบขึ้นอยู่กับพื้นที่และห้วงเวลาของการก่อสร้างโครงการ และต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง การสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ต้องพิจารณาความสำคัญของพื้นที่ที่จะป้องกันและรักษาไว้ รวมถึงผลกระโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับและสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ดังนั้น การนำกำแพงริมชายฝั่งติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ 200 เมตร ขึ้นไป กลับมาเป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำ EIA อาจไม่ใช่กลไกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เนื่องจาก EIA เป็นการศึกษาและพิจารณาผลกระทบรายโครงการ จึงควรใช้เครื่องมือรายพื้นที่ คือ รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เพื่อศึกษาภาพรวมเชิงพื้นที่

2. ภายหลังการยกเลิกการกำหนดให้กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป ต้องจัดทำ EIA ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ทำให้มีจำนวนโครงการกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้นมากขึ้น แต่เมื่อมีกลไกการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของ ทช. ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านการกัดเซาะชายฝั่งทะเล คือ คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด และคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่ รวมถึงคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นกลไกการดำเนินงานด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ รวมทั้งมีขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการฯ เพื่อเสนอผลการกลั่นกรองโครงการต่อสำนักงบประมาณเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามกลไกของ ทช. ดังกล่าว ทำให้โครงการกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมืองมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 6 โครงการ ในปี พ.ศ. 2566 มี 5 โครงการ และปี พ.ศ. 2567 มี 6 โครงการ ดังนั้น กลไกของ ทช. สามารถควบคุมจำนวนโครงการได้ โดยภายหลังจากตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ พบว่า จำนวนโครงการลดลงเท่ากับหรือใกล้เคียงกับที่ผ่านมาโดยไม่ต้องใช้กลไกการจัดทำรายงาน EIA

3. สำนักงบประมาณ ได้นำข้อมูลโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานกลั่นกรองฯ ของ ทช. มาประกอบการพิจารณาความพร้อมของโครงการในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้วย จึงมีเฉพาะโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานกลั่นกรองฯ แล้วเท่านั้น ที่สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณได้ จึงเป็นกลไกที่ช่วยในการกลั่นกรองโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับงบประมาณ 6 โครงการ (เป็นโครงการก่อสร้างใหม่) และปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีโครงการของกรมเจ้าท่าได้รับงบประมาณ 2 โครงการ (เป็นโครงการก่อสร้างใหม่) และโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับงบประมาณ 4 โครงการ (เป็นโครงการฟื้นฟูบูรณะจำนวน 3 โครงการและเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ 1 โครงการ)

4. กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่ายืนยันว่ากลไกในการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มีความเหมาะสมในการควบคุมดูแลบังคับใช้กับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลทุกขนาดอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำ “กำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ ๒๐๐ เมตร ขึ้นไป” กลับมาเป็นโครงการที่ต้องจัดทำ EIA โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่าขอให้สนับสนุนเร่งรัดให้เกิดการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พ.ศ. …. และรายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล (Environmental checklist for seawall and revetment) โดยเร็ว

5. โครงการที่ได้รับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมาเป็นโครงการเดิม ดังนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่าจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา และต้องมีชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและผู้ร้องเรียนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

6. ที่ประชุมมีประเด็นหารือเกี่ยวกับความยั่งยืนและสภาพการบังคับตามกลไกการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของ ทช. ว่าสามารถกำหนดให้เจ้าของโครงการ (กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่น) ปฏิบัติตามมาตรการ เช่น การเติมทราย การฟื้นฟูชายหาด และการกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ สผ อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลทั้งหมด และจะนำไปหารือร่วมกับชมรม Beach for Life พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียให้ครบทุกภาคส่วนตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบในเรื่องนี้อย่างรอบด้านและยั่งยืน ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาโดยเร็วต่อไป