กระทรวงแรงงาน จัดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประจำปี 2562 รวมพลังภาคีเครือข่ายต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พร้อมจับมือ ILO สถิติ แถลงความสำเร็จของรายงานการสำรวจเด็กทำงานในประเทศไทย ประจำปี 2561 พบแรงงานเด็กภาคเกษตรกรรมมากสุด เหตุความยากจนนำเด็กสู่ตลาดแรงงาน
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก ประจำปี 2562 ว่า จากการที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจังมาโดยตลอด เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเข้าสู่การทำงานน้อยลง และส่งผลต่อสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น โดยผลการประเมินสถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศสหรัฐอเมริกาจัดสถานะ ให้ประเทศไทยอยู่ในระดับมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน (Significant Advancement) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2559 และปี 2560 ติดต่อกันเป็น 1 ใน 17 ประเทศ จาก 132 ประเทศ และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้ระดับนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้ร่วมมือกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ร่วมกันดำเนินการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานเด็กของประเทศ และจะนำไปสู่การจัดทำนโยบาย การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานเด็ก และป้องกันปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า โครงการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ได้ดำเนินการสำรวจ พร้อมกันทั่วประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2561 ซึ่งขณะนี้การสำรวจได้เสร็จสิ้นลงแล้วและได้จัดทำเป็นรายงานพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยถือว่าเป็นรายงานผลการสำรวจแรงงานเด็กฉบับแรกของประเทศไทยที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทางด้านวิชาการเพื่อทำให้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเป็นที่ยอมรับและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากฐานข้อมูลที่ได้จะสามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบกับผลการสำรวจแรงงานเด็กของประเทศต่าง ๆ ได้ จากการสำรวจสรุปได้ว่า สาเหตุที่เด็กต้องมาทำงานก่อนวัยอันควรมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่เด็กต้องออกมาช่วยครอบครัวหารายได้เนื่องจากความยากจน เมื่อเด็กมาทำงานอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งในด้านปัจจัยทางร่างกายของเด็กที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ รวมทั้งสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีเด็กทำงานกระจายอยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม และนายจ้างบางส่วนที่จ้างลูกจ้างเด็กอายุ 15-18 ปี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จากรายละเอียดผลการสำรวจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กในการหาแนวทางป้องกันแก้ไขต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –