กรมอนามัยพัฒนาแกนนำภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ร่วมขับเคลื่อนกฎกระทรวงสุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการรับบริการด้านอาหาร
วันที่ 10 มิถุนายน 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 “กฎกระทรวงฯ สถานที่จำหน่ายอาหาร ก้าวต่อไปของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร” ณ ห้องอารียา ชั้น 5 โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สมาคม ชมรม ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการอาหารและสถาบันการศึกษาอ องค์กรภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ซึ่งบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 และคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคและพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการรับบริการด้านอาหาร ไม่ให้เกิดการปนเปื้อน เชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนักในอาหาร รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเนื่องจากวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่นิยมประกอบอาหารเพื่อบริโภคเอง โดยเปลี่ยนเป็นนิยมบริโภคอาหาร นอกบ้านหรือบริโภคอาหารปรุงสำเร็จ สถานที่จำหน่ายอาหารจึงมีผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนและภาครัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทั้งนี้ สถานที่จำหน่ายอาหารตามหมวด 8 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ครอบคลุมกิจการเป็นลักษณะ ร้านอาหาร ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งร้านกาแฟ เครื่องดื่มชนิดต่างๆ หรือร้านอาหารในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งในที่ตั้งของเอกชนหรือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะหรือตลาด โดยผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ต้องเข้ารับการอบรมและมีหน้าที่จัดให้ผู้สัมผัสอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารของตนเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 25 เมษายน 2562 โดยผู้ประกอบกิจการต้องเข้ารับการอบรม 6 ชั่วโมง และผู้สัมผัสอาหารต้องเข้ารับการอบรม 3 ชั่วโมง เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจและปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารภายใน 2 ปี หรือต้องผ่านการอบรมภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ซึ่งหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทำให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารมีความตื่นตัวเข้ารับการอบรมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบ รูปแบบและกลไกการขับเคลื่อนกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในเขตบริการสุขภาพ ให้เตรียมการรองรับการจัดการอบรม ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนและพัฒนาศักยภาพบุคลากร ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อรองรับ กฎกระทรวงฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนให้ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานสุขาภิบาลอาหารของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย รัฐวิสาหกิจ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมือง สมาคมฯ ชมรม ภาคีเครือข่ายด้านอาหาร สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารเฟรนไชส์ และหน่วยงานภาคเอกชนที่มีความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานจัดอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารอีกด้วย
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 10 มิถุนายน 2562