การจัดทำโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562 นายอาจิน จิรชีพพัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าวการจัดทำโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

นายอาจิน จิรชีพพัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กำลังดำเนินการจัดทำโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลสำหรับใช้ติดตามสถานการณ์ด้านเด็กและสตรีในประเทศไทย และการติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการจัดทำครั้งที่ 4 ในประเทศไทย

ข้อมูลจากโครงการดังกล่าวครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น ภาวะโภชนาการ พัฒนาการของเด็ก การศึกษา เป็นต้น  สามารถนำไปใช้จัดทำตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น ความชุกของภาวะเตี้ยแคระแกร็น ความชุกของภาวะทุพโภชนาการ อัตราการเข้าเรียนปฐมวัย เป็นต้น

นอกจากนี้ มีผู้ใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขใช้ข้อมูลด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ข้อมูลเรื่องการกินนมแม่ในการจัดทำมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และข้อมูลเรื่องการบริโภคเกลือไอโอดีนสำหรับจัดทำมาตรการเสริมไอโอดีนในเกลือ และผลิตภัณฑ์อื่น  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใช้ข้อมูลด้านโภชนาการ ประกอบการจัดทำโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และข้อมูลด้านการพัฒนาเด็ก ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564  กระทรวงศึกษาธิการนำข้อมูลการเข้าเรียนและสำเร็จการศึกษาของเด็ก ไปใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2560-2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้ข้อมูลด้านสภาวะความเป็นอยู่ของครัวเรือนและเด็ก ประกอบการจัดทำร่างตัวชี้วัดความยากจนหลายมิติ

นายอาจินฯ กล่าวอีกว่า ในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติจะส่งเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า “คุณมาดี” ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม 5 ประเภท ได้แก่ แบบสอบถามสำหรับครัวเรือน แบบสอบถามสำหรับผู้หญิง แบบสอบถามสำหรับผู้ชาย แบบสอบถามสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และแบบสอบถามสำหรับเด็กอายุ 5-14 ปี โดยเฉพาะแบบสอบถามสำหรับเด็กอายุ 5-14 ปี นับว่าเป็นครั้งแรกในการจัดเก็บและมีคำถามเพื่อประเมินความสามารถในการอ่านและการใช้ตัวเลขของเด็ก การเก็บข้อมูลครั้งนี้จะสอบถามจากครัวเรือนตัวอย่างทั่วประเทศ โดยใช้ Tablet ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม –20 กันยายนพ.ศ. 2562

สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือจากประชาชนให้ข้อมูลที่เป็นจริงและครบถ้วน เพื่อประเทศจะได้มีข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรี อย่างเป็นระบบ ยั่งยืน และต่อเนื่อง สำหรับใช้ในการวางแผนและพัฒนาประเทศต่อไป

******************************