รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุม Asia-Pacific Patient Congress 2022 ครั้งที่ 4 หารือร่วมกับสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้หัวข้อ “การร่วมสร้างสรรค์ของผู้ป่วย ในการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีนวัตกรรมและฟื้นตัวได้ดีในเอเชีย-แปซิฟิก” เพื่อหาแนวทางส่งเสริมนวัตกรรม ธรรมาภิบาลและความเท่าเทียมในระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมที เค พาเลซ จังหวัดนนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม Asia-Pacific Patient Congress 2022 ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “การร่วมสร้างสรรค์ของผู้ป่วยในการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีนวัตกรรมและฟื้นตัวได้ดีในเอเชีย-แปซิฟิก” (Patient Co- Creation in Developing Innovative and Resilient Health Systems in Asia-Pacific) โดยมีประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรพันธมิตรผู้ป่วยนานาชาติ (International Alliance of Patients’ Organization : IAPO) ประธานและกรรมการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ผู้แทนองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์กรเครือข่ายผู้ป่วย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ดร.สาธิต กล่าวว่า ภายหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ประเทศต่างๆ ขณะนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพร้อมกลับสู่ภาวะปกติ มีการพัฒนาระบบสุขภาพ การรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้อย่างปลอดภัยและ มีคุณภาพ โดยการจัดประชุม Asia-Pacific Patient Congress 2022 ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกของ IAPO แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการดูแลสุขภาพ จะได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรม ธรรมาภิบาล และความเท่าเทียมในระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความปลอดภัย คุณภาพ และการเข้าถึงบริการ ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในการอภิบาลระบบ (Governance) และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการ เป็นตัวอย่างที่ดีของการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ของผู้ป่วย
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ระบบสุขภาพของประเทศไทย เป็นระบบที่สามารถรองรับประชาชนทุกคน รวมทั้ง คนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ มีความครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมโยงการรักษาจากระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานได้สะดวก โดยไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย และยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ของผู้ป่วยในการตัดสินใจรับการรักษา รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจิตอาสาภาคประชาชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือดูแลประชาชนและผู้ป่วยในชุมชน ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็ง เห็นได้จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดและมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิต ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จนสามารถยกเลิกโรคโควิด 19 ออกจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย และกำหนดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแทน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้เกี่ยวข้องจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของแต่ละประเทศต่อไป