“ไข้หวัด” เป็นโรคที่มักพบในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล จากร้อนเป็นฝน จากฝนเป็นหนาว การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เชื้อไวรัสจึงเข้าฉกฉวยทำให้เกิดอาการไข้หวัดตามมา การรักษาอาการหวัดที่ดีที่สุด คือ การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น และอาจ มีการใช้ยาหรือสมุนไพรเข้าเสริมเพื่อบรรเทาอาการ และสมุนไพรไทยที่จัดว่าเป็นหมัดเด็ดในการต่อสู้กับอาการไข้หวัดก็คือ “ฟ้าทะลายโจร”
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees) เป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้กันมาช้านาน จัดเป็นยาเย็น สรรพคุณใช้แก้ไข้ แก้ท้องร่วง เป็นยาธาตุ บำรุงกำลัง (1) สารสำคัญที่พบใน ฟ้าทะลายโจรเป็นสารกลุ่มแลคโตน เช่น แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide), นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neoandrographolide), ดีออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (deoxyandrographolide), 14-ดีออกซี-11,12-ไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide) ซึ่งเป็นสารที่ให้รสขม (2) พบมากในส่วนของดอก ใบ และกิ่งก้าน ตามลำดับ ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีข้อบ่งชี้ว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล สามารถใช้ทดแทนหรือเสริมการรักษาร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้ และในบัญชียาหลัก ได้กำหนดไว้ว่ายาฟ้าทะลายโจร ควรจะมีปริมาณ andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6.0 โดยน้ำหนัก ขนาดที่แนะนำให้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการไข้หวัดและเจ็บคอ คือ รับประทานวันละ 1.5-3 ก. แบ่งให้ วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (3)
การศึกษาทางคลินิกถึงประสิทธิภาพของฟ้าทะลายโจรในการบรรเทาอาการไข้หวัด พบว่าให้ผลเหนือกว่ายาหลอกและเทียบเท่ากับการใช้ยาพาราเซตามอล การศึกษาแบบ double-blind, randomized trial ในผู้ป่วยจำนวน 152 คน แบ่งให้รับประทานฟ้าทะลายโจร ขนาด 3 และ 6 ก./วัน นาน 7 วัน พบว่าฟ้าทะลายโจรขนาด 6 ก./วัน ให้ผลลดไข้และเจ็บคอได้ดีเทียบเท่ากับกลุ่มที่รับประทานยาพาราเซตามอล ขนาด 325 มก. ตั้งแต่ช่วงวันที่ 3 ของการรักษา และเมื่อรับประทานครบ 7 วัน จะให้ผลการรักษาไข้หวัดได้ไม่ต่างกันทั้ง 3 กลุ่ม (4) และเมื่อให้ผู้ป่วยไข้หวัด 158 คน ประเมินอาการไข้หวัดที่สังเกตได้ด้วยตัวเอง Visual Analog Scale (VAS) ได้แก่ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดศรีษะ รู้สึกไม่สบายตัว นอนไม่หลับ พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ 2 วันแรกหลังการรับประทานแคปซูลผงสารสกัดจากใบ ฟ้าทะลายโจร ขนาด 1,200 มก./วัน โดยลดอาการเจ็บคอ คัดจมูก และนอนไม่หลับได้อย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อรับประทานไป 4 วัน อาการโดยรวมดีขึ้นกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (5)
นอกจากการใช้ในรูปแบบของผงใบแล้ว ยังมีการใช้ฟ้าทะลายโจรในรูปของสารสกัดซึ่งรู้จักกันในชื่อยา Kan Jang การศึกษาแบบ non-randomized, double-blind, placebo-controlled trial ในผู้ป่วยที่มีอาการหวัด 61 คน ให้รับประทานยาหลอกหรือยาเม็ด Kan Jang 1,200 มก./วัน (ได้รับ andrographolide 48 มก./วัน) ผลจากการประเมินอาการทางคลินิกโดยแพทย์ พบว่าการอักเสบของเยื่อเมือกในช่องจมูก ไซนัสอาการปวดศีรษะ และต่อมน้ำเหลืองอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มฟ้าทะลายโจร และผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีคะแนนรวมของ VAS มากกว่ากลุ่มควบคุม (6) เช่นเดียวกับผู้ป่วยไข้หวัด อายุ 18-55 ปี ที่รับประทานยาเม็ด Kan jang (ประกอบด้วยสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ขนาด 85 มก.) ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการหวัด และลดจำนวนวันในการเป็นหวัดได้อย่างมีนัยสำคัญ (Melchior, 1997) การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์บรรเทาอาการหวัดของยา Kan jang ในผู้ป่วยเด็ก อายุ 4-11 ปี โดยให้รับประทานยา Kan Jang ครั้งละ 2 เม็ด รับประทานวันละ 3 ครั้ง (รวมได้รับสาร andrographolide และ deoxyandrographolide 30 มก./วัน) หรือรับประทาน Immunal drop สารสกัดจากต้น Echinacea ซึ่งมีรายงานว่าสามารถใช้ป้องกันหวัดได้ ครั้งละ 10 หยด วันละ 3 ครั้ง หรือยาพาราเซตามอล ครั้งละ 500 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน กลุ่มที่ได้รับยา Kan jang มีอาการดีขึ้นกว่าทุกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญหลังรับประทานเพียง 2-3 วัน (7) และการรับประทานฟ้าทะลายโจรในขนาดต่ำอย่างต่อเนื่องยังช่วยป้องกันการเกิดหวัดได้ เมื่อให้เด็กนักเรียนรับประทานยาเม็ดฟ้าทะลายโจร ขนาดวันละ 200 มก. 5 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน 3 เดือน สามารถป้องกันการเกิดหวัดได้ดี โดยพบอัตราการเป็นหวัดในนักเรียนกลุ่มที่รับประทาน ฟ้าทะลายโจรเพียง 20% ในขณะที่กลุ่มควบคุมพบอัตราการเป็นหวัด 62% โดยคาดว่าฟ้าทะลายออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้อัตราการเป็นหวัดลดต่ำลง (8)
ฟ้าทะลายโจรถือเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัย จากการประเมินความเป็นพิษเมื่อให้อาสาสมัคร ชายหญิงสุขภาพดี จำนวน 20 คน ที่รับประทานแคปซูลฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 8 ชั่วโมง (รวมได้รับวันละ 12 แคปซูล เท่ากับสารสกัดมาตรฐานจากฟ้าทะลายโจร 4.2 กรัม) ติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งเป็นขนาดที่แนะนำให้ใช้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อบรรเทาอาการหวัดและเจ็บคอ ไม่พบความผิดปกติหรืออาการไม่พึงประสงค์อื่นในระหว่างการรับประทาน (9) อย่างไรก็ตามอาจพบอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดเอว วิงเวียนศีรษะ และใจสั่น ข้อควรระวังในการใช้โดยการฉีดหรือใช้ขนาดสูงคือ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นคัน ลมพิษ จนถึงอาการแพ้ขั้นรุนแรงและช็อค สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจให้เกิดการแท้ง ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (ไม่ควรเกิน 7วัน) เพราะอาจทำให้แขนขาชาหรืออ่อนแรงได้ หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงระหว่างการใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เพราะฟ้าลายโจรจะเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้เลือดหยุดไหลได้ยาก และระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันในเลือดเนื่องจากอาจเสริมฤทธิ์กันได้ (3)
วิธีการใช้แบบง่ายตามคู่มือสมุนไพรในสาธารณสุขมูลฐาน (10)
– ยาลูกกลอน นำใบฟ้าทะลายโจรสดตากแห้งในร่ม บดเป็นผงละเอียด นำมาปั้นกับน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอน ขนาดปลายนิ้วก้อย ผึ่งลมให้แห้ง รับประทาน 3-6 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
– ยาต้ม ใช้ใบฟ้าทะลายโจร 1-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 10-15 นาที ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง (หากใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ ใช้ใบฟ้าทะลายโจร 1 กำมือ)
เอกสารอ้างอิง
- นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาชน; 2542. 823 p.
- Department of medical science. Thai Herbal Pharmacopoea 2016. Bangkok: The Agricultural Co-operative Federtion of Thailand., Ltd.; 2016. 643 p.
- สำนักกรรมการอาหารและยา. คู่มือการใช้ยาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย; 2555.
- Thamlikitkul V, Dechatiwongse T, Theerapong S, Chantrakul C, Boonroj P, Punkrut W, et al. Efficacy of Andrographis paniculata, Nees for pharyngotonsillitis in adults. J Med Assoc Thai. 1991;74(10):437-42.
- Caceres DD, Hancke JL, Burgos RA, Sandberg F, Wikman GK. Use of visual analogue scale measurements (VAS) to assess the effectiveness of standardized Andrographis paniculata extract SHA-10 in reducing the symptoms of common cold. A randomized double blind-placebo study. Phytomedicine. 1999;6(4):217-23.
- Hancke J, Burgos R, Caceres D, Wikman G. A double-blind study with a new monodrug Kan Jang: Decrease of symptoms and improvement in the recovery from common colds. Phytother Res. 1995;9(8):559-62.
- Spasov AA, Ostrovskij OV, Chernikov MV, Wikman G. Comparative controlled study of Andrographis paniculata fixed combination, Kan Jang and an Echinacea preparation as adjuvant, in the treatment of uncomplicated respiratory disease in children. Phytother Res. 2004;18(1):47-53.
- Caceres DD, Hancke JL, Burgos RA, Wikman GK. Prevention of common colds with Andrographis paniculata dried extract. A pilot double blind trial. Phytomedicine. 1997;4(2):101-4.
- Suriyo T, Pholphana N, Ungtrakul T, Rangkadilok N, Panomvana D, Thiantanawat A, et al. Clinical parameters following multiple oral dose administration of a standardized Andrographis paniculata capsule in Healthy Thai subjects. Planta Med. 2017;83(9):778-89.
- สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพ โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2542.
ขอบคุณข้อมูล จาก MED HERB GURU โดยกนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล