บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมแชร์ประสบการณ์ การดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero ในการประชุมวิชาการนานาชาติ “16th Asia Pacific Roundtable on Sustainable Consumption and Production” ส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Transition with Collaborative Actions) ในการประชุมวิชาการนานาชาติฯ ซึ่งจัดโดย สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ ThaiSCP ร่วมกับ เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งเอเชียแปซิฟิก(APRSCP) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ
นายพีรพงศ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก และส่งออกสินค้ามากกว่า 40 ประเทศ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero)ในปี 2050 ซึ่งการเสวนาในวันนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ในสิ่งที่ซีพีเอฟดำเนินการ เพื่อมุุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2030 และ ปี 2050 เป็นการแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินการต่างๆ และทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยล่าสุด หลังจากที่ซีพีเอฟได้แสดงความมุ่งมั่นต่อองค์กร Science Based Target Initiative (SBTi) แล้ว จึงได้กำหนดให้ใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของซีพีเอฟทั่วโลกในปี 2020 เป็นปีฐาน เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายของซีพีเอฟทั่วโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเป้าหมายของปี 2030 และ เป้าหมายปี 2050 เพื่อมุ่งสู่ Net-Zero ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ซีพีเอฟมีความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้
สำหรับการเสวนา ในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้นำประสบการณ์และเรื่องที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว ด้วยการนำแนวทาง BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular- Green- Economy Model -BCG) มาใช้ อาทิ การใช้พลังงานชีวภาพ (Biogass)ในการผลิตไฟฟ้า ในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ที่มีการนำมูลสัตว์มาหมักเป็นแก๊ส และนำแก๊สไปผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ในปี 2022 ซีพีเอฟได้ประกาศจุดมุ่งหมายชัดเจนในการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน (Coal Free 2022) สำหรับกิจการในประเทศไทย และเปลี่ยนมาใช้พลังงานชีวมวลจากไม้สับแทน
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์) อยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 690,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยจะพยายามขยายการผลิตพลังงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ การติดตั้งโซลาร์เซล ซึ่งในปี 2566 นี้ จะดำเนินการได้ 65 เมกะวัตต์ โดยจะติดตั้งในฟาร์มและโรงงานมากกว่า 200 แห่งของซีพีเอฟ และมีเป้าหมายในปี 2568 จะดำเนินการให้ได้ 100 เมกะวัตต์
นายพีรพงศ์ กล่าวย้ำด้วยว่า ซีพีเอฟในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ได้ประกาศเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ซึ่งภายใต้เป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯมุ่งมั่นมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้บรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึง การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร ช่วยให้ซีพีเอฟสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐานปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ซึ่ง นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ มีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอม หรือ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการภายใน 30 วันให้แก่คู่ค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของซีพีเอฟประมาณ 6 พันราย เพื่อช่วยเหลือให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี ช่วยรักษาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และปัจจุบัน ยังได้ขยายโครงการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ เปิดตัวโครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” มอบสินเชื่อหมุนเวียนด้วยดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยให้คู่ค้าเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ./