กรมบัญชีกลางปรับเกณฑ์ขยายสิทธิเบิกจ่ายตรงค่ายารักษาโรคมะเร็ง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ดำเนินงานภายใต้คณะทำงานพิจารณาแนวทางปรับปรุงและพัฒนาระบบเบิกจ่ายค่ายากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็ง และเภสัชกรเชี่ยวชาญ โดยคณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ปรับปรุงและขยายเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายารักษาโรคมะเร็งที่ต้องลงทะเบียนเพื่อขออนุมัติเบิกจ่าย ในระบบ OCPA เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ดังนี้

1.1 ปรับปรุงเกณฑ์การตรวจวินิจฉัยสำหรับการเบิกจ่ายค่ายา Trastuzumab และ Pertuzumab ในโรคมะเร็งเต้านม โดยยกเลิกการตรวจยืนยันด้วย FISH หรือ DISH ในกรณีที่มีการตรวจ HER2 เป็น 3+ โดยวิธี Immunohistochemistry ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย และทำให้ผู้ป่วยที่มี HER2 เป็น 3+ มีโอกาสได้ใช้ยาเร็วขึ้น

1.2 ขยายข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายา Imatinib ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ชนิด GIST สำหรับการใช้เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดที่พบว่ามีโอกาสของการกลับคืนโรคได้สูง และเพิ่มข้อบ่งชี้โรคมะเร็งผิวหนังชนิด Dermatofibrosarcoma protuberans (DFSP)

1.3 เพิ่มข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายา Trastuzumab ในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะลุกลาม หรือแพร่กระจาย


2. กำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา Imatinib และ Trastuzumab สำหรับการรักษาทุกข้อบ่งชี้ โดยให้เบิกจ่ายค่ายา ได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด ดังนี้

2.1 ยา Imatinib ความแรง 100 มิลลิกรัม และ 400 มิลลิกรัม อัตรา 160 บาทต่อเม็ด และ 610 บาทต่อเม็ด ตามลำดับ

2.2 ยา Trastuzumab ความแรง 150 มิลลิกรัม 440 มิลลิกรัม และ 600 มิลลิกรัม อัตรา 3,940 บาทต่อไวแอล 11,230 บาทต่อไวแอล และ 12,350 บาทต่อไวแอล ตามลำดับ โดยหลักเกณฑ์ตามข้อ 1.1 จะมีผลใช้บังคับสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป สำหรับหลักเกณฑ์ตามข้อ 1.2 1.3 และ 2 ให้มีผลใช้บังคับสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

“การปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาซึ่งจำเป็นต้องใช้ยา ที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสามารถเข้าถึง การรักษาที่จำเป็นอย่างสมเหตุผล สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ และสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับ ปัจจุบันยารักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงหลายรายการมีทั้งยาต้นแบบ (original/originator) และยาสามัญ (generic) หรือยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilar) ซึ่งมีราคาแตกต่างกันมาก โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนว่ายา generic หรือ biosimilar มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาพยาบาลเทียบเท่าหรือไม่ด้อยกว่ายา original/originator

ดังนั้น การกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาจะช่วยให้รัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาบางส่วนได้ โดยไม่ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง ผู้ป่วยจะยังคงได้รับยาที่มีคุณภาพในการรักษาและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานการคัดเลือกยาของสถานพยาบาล และรัฐสามารถนำงบประมาณที่ประหยัดได้ไปใช้ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจจะต้องมีการ ร่วมจ่ายค่ายา หากมีความประสงค์จะเลือกใช้ยาที่มีราคาสูงกว่าอัตราที่กำหนด

ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6850 หรือ 6851 ในวัน เวลาราชการ” หรือสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หัวข้อ รักษาพยาบาล/ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล/กฎหมายระเบียบและหนังสือเวียน (สวัสดิการรักษาพยาบาล)” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว