มนุษย์ทุกคนต่างเกิดมามีชีวิตที่อิสระและเสมอภาคกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ บรรดาสิทธิมนุษยชนทั้งหมดมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้ แต่เมื่อเขาหรือเธอที่รับรู้ว่าตนเองเป็น LGBTQ+ มักจะถูกแบ่งแยกจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ ด้านสิทธิต่าง ๆ จึงถูกผลักให้กลายเป็นคนที่แตกต่าง ถูกละเลยสิทธิในการเข้าถึงโอกาส เข้าถึงทรัพยากร ตลอดจนถูกเลือกปฏิบัติ
ในสังคมไทยกฎหมายมักถูกครอบคลุมไว้สองเพศ คือเพศหญิงและเพศชาย โดยกำหนดไว้ว่าหญิงชายสามารถทำอะไรได้บ้างตามกฎหมาย โดยละเลยไปว่าในสังคมนั้นยังมีเพศสภาพหรือเพศสภาวะที่หลากหลาย ทำให้ที่ผ่านมามีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องกันมากว่าเพศสภาพมักถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับสิทธิต่าง ๆ เท่าที่ควร ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สิทธิทางกฎหมายยังไม่ครอบคลุมเพศสภาพมากนัก
จากการขับเคลื่อนด้านสิทธิทางเพศที่ผ่านมาส่งผลให้สังคมมีความตระหนักยอมรับความแตกต่างความหลากหลายของเพศสภาพมากขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการบัญญัติทางกฎหมาย และพวกเขาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการเข้าถึงบริการอย่างเป็นรูปธรรมมากเท่าที่ควร
ปัญหาการรับรองเพศสภาวะทางกฎหมายมี 4 อันดับ ดังนี้
1. ปัญหาเรื่องสิทธิสุขภาพและความมั่นคงทางสังคม
2. ปัญหาเรื่องการรับเข้าทำงาน
3. ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายรับรองเพศสภาวะ
4. ปัญหาเรื่องการยอมรับจากคนในครอบครัว
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์สุขภาวะของคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีหลายประเด็นน่ากังวล โดยเฉพาะเรื่องของภาวะซึมเศร้าจากการอยู่ในสภาพร่างกายที่พวกเขาไม่ต้องการ สิ่งสำคัญที่ สสส. มุ่งทำงานคือการสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ การสื่อสารทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนสภาพร่างกายไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงาม แต่เป็นเรื่องการตอบโจทย์สุขภาพจิต
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งนั้น สามารถใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพ และเป็นเรื่องที่ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในส่วนของ LGBTQ+ แต่ละคนเจอความท้าทายประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกันไป ปัญหาการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของคืออะไร กลุ่มคนเหล่านี้น้อยมากแทบจะไม่ค่อยได้สัมผัสกับความสุขเลย เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ กลุ่มคนเหล่านี้ก็เช่นกัน ต้องการความเท่าเทียมในเพศสภาพ ต้องการสิทธิในด้านต่าง ๆ เหมือนกันกับเพศอื่น ๆ ในสังคม
ปัญหาด้านการประกันสุขภาพที่กลุ่มบุคคลข้ามเพศต้องเผชิญ ดังนี้
1. การกีดกันการผ่าตัดแปลงเพศในแผนประกันสังคม
2. การจํากัดการเข้าถึงการบําบัดโดยใช้ฮอร์โมนเพศทดแทนและการบําบัดอื่น ๆ ภายใต้การประกันสุขภาพ
3. การเข้าถึงบริการสุขภาพและการประกันชีวิตของเอกชนได้จํากัด เนื่องจากเบี้ยประกันที่สูงและนโยบายที่เคร่งครัด
4. การตีตราและการใช้ภาพจำเกี่ยวกับผู้หญิงข้ามเพศและชายรักชายว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ในการติดเชื้อเอชไอวี
5. การคิดเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพบุคคลที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสูงกว่า
6. บริษัทประกันส่วนมากไม่มีนโยบายการยกผลประโยชน์การทำประกันชีวิตให้กับคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน
7. ประกันสังคมและประกันภัยจากบริษัทเอกชนไม่ครอบคลุมบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการยืนยันเพศสภาพ (การแปลงเพศ การใช้ฮอร์โมน)
8. บริการสุขภาพเรียกหาหลักฐานการยืนยันตัวตนตามเพศกำเนิดของคนข้ามเพศ
9. บริการเฉพาะทางสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้ชายข้ามเพศ มีจํากัด และไม่มีบริการที่เฉพาะทางสำหรับหญิงรักหญิงและผู้หญิงไบเซ็กชวล
10. มีพื้นที่การให้บริการที่ไม่พอเพียง มีปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว และทัศนคติของพนักงาน
สสส. สนับสนุนงานวิชาการ และสิ่งที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราร่วมมืออย่างเข้มข้นกับคลินิกที่หลากหลาย ซึ่งโรงพยาบาลหรือคลินิกที่เข้าร่วมนี้เป็นโมเดลสำคัญมาก ๆ ในส่วนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ LGBT นั้น GenV Clinic จะให้บริการตั้งแต่เรื่องสุขภาพจิต เรื่องการใช้ฮอร์โมน ซึ่งใช้กันผิดถูกตลอดเวลาในส่วนของ LGBT รวมไปถึงการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาอื่น ๆ และสุดท้ายใครสนใจที่จะผ่าตัดแปลงเพศ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี ก็มีบริการนี้ให้ ซึ่ง GenV Clinic นั้น
สสส. สนับสนุนให้เกิดโมเดลการทำงาน บริการกับคนหลากหลายทางเพศใน 4 จังหวัด ตอนนี้กำลังจะขยายเพิ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ตัวคลินิกขับเคลื่อนสุขภาวะไปอย่างรวดเร็ว โดยเปิดบริการทุกวันศุกร์ เวลา 13.00-16.00 น. อาคาร 1 ชั้น 2 รพ. รามาธิบดี โทร 02-2012799 ซึ่งทาง GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลายมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดูแลกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้ดีที่สุด นายชาติวุฒิ กล่าว
ปัจจัยการเข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพ
1. ตระหนักรู้ถึงปัญหาสุขภาพแบบรอบด้านของคนข้ามเพศ
2. ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
3. การเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับคนข้ามเพศ
4. การมีบริการสุขภาพที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
คนข้ามเพศต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้คนข้ามเพศเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ไม่ดี ซึ่งรวมถึงทัศนคติของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การขาดนโยบายที่ครอบคลุม การขาดความรู้เฉพาะด้านเกี่ยวกับสุขภาพของคนข้ามเพศ การขาดบริการด้านสุขภาพที่ราคาไม่แพง และลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมาะสมของการดูแลสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ เพียงเพราะสิทธิทางกฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงเพศสภาพ หากแต่ยึดติดกับเพศกำเนิดนั่นเอง
สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานเสริมสร้างพลังสังคมที่ตอบสนองพลังทางการแพทย์ทำให้บริการที่เป็นมิตรและเข้าถึงบริการได้ง่าย โดย สสส. เข้าสู่ปีที่ 21 ซึ่งเป็นศตวรรษใหม่ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างไม่ยากลำบากอีกต่อไป และมีความยินดีมากที่เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ LGBTQ+ ทุกคนมีตัวตนที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับเพศอื่น ๆ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข