พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จแทนพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จแทนพระองค์ไปในการราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ถวายรายงาน พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาด ภริยานายทหาร ตำรวจ เฝ้ารับเสด็จฯ จากนั้น เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัตน์ ทรงประกอบพิธีถวายผ้าพระกฐิน ตามลำดับ โดยมี พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ถวายอดิเรก และ พระมหาเวชยันต์ เวชยนฺโต เจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นผู้ครององค์ผ้าพระกฐินพระราชทาน

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่ พระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ให้ชื่อว่า “วัดทอง” เป็นวัดของฝ่ายวังหน้า ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้บูรณะวัดนี้ทั้งหมด เปรียบเสมือนวัดประจำราชวงศ์จักรี ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นการเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา

จากนั้น เสด็จออกจากพระอุโบสถ ไปยังพระวิหาร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่กำพูฉัตร พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ทรงถือสายสูตรยกฉัตร ขึ้นกางกั้นเหนือพระพุทธชินราชจำลองพระประธานพระวิหาร ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธชินราชจำลอง ทรงลงพระนามในแผ่นศิลา

ภายในวัดมีจิตรกรรมฝาผนังรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้นฉบับที่เคยเห็นกันในหนังสือเรียน วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้านบนของผนังภายในพระอุโบสถรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมาน ที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ที่เคยมีการวาดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนด้านล่างของผนังเป็นภาพเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก ในส่วนพระวิหารมีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อ ด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่ โครงสร้างพระวิหารเหมือนกับอุโบสถแต่ไม่มีคันทวย และหน้าบันเป็นรูปช้างเอราวัณยืนแท่น ทูนแว่นฟ้า บนพานมีฉัตร 5 ชั้นภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง มีเรือนแก้วแบบเรือนแก้วพระพุทธชินราช แต่เป็นจำหลักเขียนสีปิดทองสิ่งสำคัญภายในวัดซึ่งถือว่ามีคุณค่าควรแก่การดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี นั้นก็คือภาพจิตรกรรมฝาฝนังในพระอุโบสถ และพระวิหาร

ปัจจุบัน วัดแห่งนี้ มีพระมหาเวชยันต์ เวชยนฺโต เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์ จำพรรษา 16 รูป