พม. คุ้มครองเด็กออกจากสถานสงเคราะห์เอกชนที่จังหวัดสมุทรสงคราม วางแผนช่วยเหลือประเมินสภาวะเพื่อพัฒนาเด็กรายบุคคล (IDP)

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข้อมูลจากข่าว กรณีการทำร้ายร่างกายและใช้แรงงานเด็กในสถานสงเคราะห์เอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสงคราม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีความเป็นห่วงเด็กที่ได้รับการดูแลไม่เหมาะสมและถูกทำร้ายร่างกาย ในสถานสงเคราะห์เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสงคราม กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ประชุมทีม One Home ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการปกครอง ตำรวจ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กระทรวงแรงงาน ฯ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเด็ก ซึ่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ได้รับเด็กมาอยู่ในการดูแลของกระทรวง พม. รวมจำนวนทั้งสิ้น 29 คน โดยมีหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว และนักสังคมสงเคราะห์บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้พาเด็กไปลงบันทึกประจำวัน และตรวจสุขภาพเพื่อให้การบริการด้านสุขภาพ เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองและการช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

นางจตุพร กล่าวต่อว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือเด็ก สงเคราะห์เด็ก เพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองให้มีความปลอดภัย โดยปลัดกระทรวงได้มอบหมายชุดปฏิบัติการประกอบด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาจากส่วนกลาง สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด เพื่อทำให้มั่นใจว่ากระบวนการคุ้มครองเด็กในครั้งนี้จะเป็นไปตามหลักปฏิบัติของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยยึดประโยชน์สูงสุดของเด็ก นั่นคือ เด็กต้องได้รับการอุปการะเลี้ยงดูให้เป็นไปตามการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำ การคุ้มครองเด็กมิให้อยู่ในความเสี่ยงจากอันตรายเพื่อให้เด็กมีความปลอดภัย

นางจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้จัดเตรียมสถานที่ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยารวมถึงพยาบาลเพื่อให้การดูแลเด็กและเยาวชนที่จะถูกส่งมาให้ พม. ดูแล ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นเพื่อให้การดูแลสอดคล้องกับช่วงอายุ ความผูกพันของเด็ก และความสัมพันธ์ทางสังคม โดยพบว่า เด็กบางรายมีภาวะความเครียด วิตกกังวล และมีพัฒนาการไม่เหมาะสมตามวัย และจะได้มีการสืบเสาะพินิจเพื่อนำมาประเมินสภาวะเด็กและครอบครัว วินิจฉัยเพื่อกำหนดแผนการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กรายบุคคล (IDP) ในระยะสั้นและระยะยาว โดยเด็กทุกคนจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ประสานกับทีมสหวิชาชีพ รวมถึงวางแผนช่วยเหลือเด็กร่วมกับครอบครัว หากไม่มีครอบครัวจะใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการวางแผนช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมรอบด้าน และฟื้นฟูจิต

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้มีการประสานงานกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานพัฒนาและฟื้นฟู รวมถึงทุกสถานที่มีเด็กอยู่ในความดูแล และจะจัดให้มีคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานระดับพื้นที่ประกอบด้วย หน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ ด้านปกครอง ด้านความปลอดภัย ในการตรวจสอบการให้ใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตรวมถึงการตรวจเยี่ยมเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานรองรับที่จดทะเบียน มีการให้บริการดูแลเด็กในความอุปการะให้เป็นไปตามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นางจตุพร กล่าวทิ้งท้าย