องคมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรโรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดตรัง มุ่งวิสัยทัศน์เป็นโรงพยาบาลต้นแบบนวัตกรรมแห่งความพอเพียงที่มีคุณภาพเพื่อชุมชน ส่งเสริมการใช้สมุนไพรใบหม่อนดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือด สร้าง Health Care Model ในชุมชน
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดตรัง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ดร.นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) กรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล ให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และมอบของเยี่ยมให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า โรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการ ตามวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลในการเป็นต้นแบบนวัตกรรมแห่งความพอเพียงที่มีคุณภาพเพื่อชุมชน เน้นส่งเสริมการปลูกพืชผักสมุนไพรเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารให้กับผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ช่วยลดค่าใช้จ่ายวัตถุดิบได้ร้อยละ 1.4
นอกจากนี้ ยังนำใบหม่อนจากสวนสมุนไพรของโรงพยาบาลมาแปรรูปเป็นชา เพื่อใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิด Health Care Model ในชุมชน และยังมีการนำโคลนทะเลมาประยุกต์ใช้ในการพอกเข่า ดูแลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มารับบริการในคลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถือเป็นศาสตร์การรักษาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับจังหวัด ในปี 2564
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลยังมีผลการดำเนินงานที่สำคัญอีกหลายด้าน อาทิ ส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลสำหรับร้านค้าในชุมชน โดยดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายอำเภอหาดสำราญ สร้างร้านค้าต้นแบบ 1 อำเภอ 1 ร้าน, โครงการอาหารปลอดภัย (Food safety), การจัดการขยะแบบครบวงจร (แหลมลูกไม้โมเดล), จัดทีมพยาบาลวิชาชีพและสหวิชาชีพลงพื้นที่ออกให้ความรู้การดูแลสุขภาพเบื้องต้น, ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อท่าฤาษีดัดตน, ปรับสมดุลร่างกายด้วย “มณีเวช”, ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, จัดบริการพาหมอไปหาคนไข้ ให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางถึงในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะให้กับผู้ปฏิบัติงาน เช่น กิจกรรมซ้อมแผนอุบัติภัยทางทะเล การป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ อบรม BLS, PBLS & ACLS การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและขั้นสูง
สำหรับแผนการพัฒนาโรงยาบาลในระยะต่อไป จะมีการนำเทคโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่และการให้บริการผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Hospital ควบคู่ไปกับการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลสีเขียวสู่รมณียสถาน และจัดตั้งคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่